บทความด้านพลังงาน

ChatGPT เปิดมิติใหม่โลก AI

บทความด้านพลังงาน
30 มกราคม 2566 , 12:00
463
1
0

ChatGPT เปิดมิติใหม่โลก AI

 

            เวลานี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ ChatGPT ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) โดย ChatGPT ได้เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปได้ทดลองใช้ฟรีมาระยะหนึ่งแล้ว (ซึ่งในอนาคตอาจมีการเก็บค่าบริการ) จากประสบการณ์ของผู้ที่ได้ทดลองใช้ ChatGPT มีทั้งคนที่ประทับใจในศักยภาพอันมหาศาลของโปรแกรมนี้ที่ช่วยเราได้หลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น การสร้างแอปพลิเคชั่นบนมือถือ การเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การสร้างเกมส์ การเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัว และเป็นนักโภชนาการให้คำแนะนำเรื่องอาหารสุขภาพ การร่างสัญญาทางกฎหมาย รวมถึงการเขียนบทความเชิงวิชาการที่สลับซับซ้อน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามหลายคนก็แสดงถึงความกังวลต่ออนาคต และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ หากการใช้งานโปรแกรมลักษณะนี้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น เสี่ยงต่อการตกงาน เสี่ยงต่อการถูกครอบงำทางความคิด ซึ่งจะเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปในอนาคต

รูปที่ 1 ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)

ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Weak_artificial_intelligence

        บริษัท OpenAI ภายใต้การร่วมก่อตั้งโดย Elon Musk มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า Tesla และธุรกิจขนส่งทางอวกาศ SpaceX โดยบริษัท OpenAI ได้พัฒนาแบบจำลองทางด้านภาษาขนาดใหญ่ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบ โดยใช้เทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อสร้างข้อความคำตอบที่เหมือนคุยอยู่กับมนุษย์ บนพื้นฐานสถาปัตยกรรม GPT (Generative Pre-trained Transformer) จนนำมาสู่โปรแกรม ChatGPT โดยพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2018 จากแนวคิดการประมวลผลจากฐานข้อมูลมหาศาลในอินเตอร์เน็ตซึ่งได้ถูกรวบรวมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความหลากหลาย และสร้างระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Machine Learning) ตลอดเวลา จนนำไปสู่การคิดหาคำตอบของแต่ละคำถาม

รูปที่ 2 ช่วงเวลาการพัฒนา ChatGPT เริ่มจาก GPT-1

ที่มา https://lifearchitect.ai/chatgpt/

คุณสมบัติหลักของ ChatGPT

  • การสร้างข้อความ: ChatGPT สามารถสร้างข้อความที่เชื่อมโยงกันและสอดคล้องกันตามข้อมูลที่ป้อนให้ นอกจากนี้ยังสามารถปรับแต่งเพื่อสร้างข้อความที่เกี่ยวข้องกับโดเมนหรือบริบทเฉพาะ
  • การปรับระบบให้เข้ากับผู้ใช้: สามารถฝึกสอนหรือแก้ไข ChatGPT ด้วยชุดข้อมูลเฉพาะเพื่อสร้างข้อความที่ปรับให้เป็นส่วนตัวสำหรับผู้ใช้หรือบริบทเฉพาะ
  • การเรียนรู้งานหลากหลายรูปแบบ: ChatGPT สามารถดำเนินการประมวลผลได้หลากหลายภาษา รวมถึงการแปลภาษา การสรุปข้อความ และการสร้างบทสนทนา
  • ความยืดหยุ่น: สามารถเชื่อมต่อ ChatGPT เข้ากับเครื่องมือและแอปพลิเคชั่นอื่นๆ เช่น แชทบอท ผู้ช่วยเสมือน และเกมส์ที่ใช้ภาษา ผ่านบริการเชื่อมโยงข้อมูล API ของ OpenAI
  • การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง: เนื่องจากโปรแกรมได้รับการปรับแต่งอย่างละเอียดบนชุดข้อมูลที่หลากหลายและจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถของโปรแกรม

รูปที่ 3 ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานฟังค์ชั่นต่างๆ ของ ChatGPT

ที่มา https://beta.openai.com/examples

ข้อจำกัดของ ChatGPT

บางครั้งคำตอบที่เป็นผลลัพธ์ที่ได้จาก ChatGPT อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื้อหาเจือปนไปด้วยอคติ หรือให้คำแนะนำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหากทำตาม การที่โปรแกรมต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการค้นหาคำตอบสำหรับแต่ละคำถาม เนื่องจากจำเป็นต้องใช้การประมวลผลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงข้อมูลที่ได้รับไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลใหม่ที่ยังไม่ถูกนำเข้าไปประมวลผลในโปรแกรม ทั้งนี้ ChatGPT ประมวลผลจากฐานข้อมูลหลากหลายที่รวบรวมจากแหล่งต่างๆ ในอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ฐานข้อมูลใน Google อัตชีวประวัติบุคคล ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา นวนิยาย เป็นต้น

รูปที่ 4 แสดงข้อมูลที่ GPT ใช้ในการเรียนรู้ในเวอร์ชั่นต่าง ๆ

ที่มา https://lifearchitect.ai/chatgpt/

คู่แข่งของ ChatGPT

จากการเปิดตัวของ ChatGPT ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมในวงกว้างให้หลายบริษัทด้าน IT เร่งพัฒนาระบบ AI ของตนเอง โดยคู่แข่งที่สำคัญคือ DeepMind Sparrow ของบริษัท Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google และในส่วนของโปรแกรม AI Chat ก็มีคู่แข่งคือ Jasper Chat หรือ You Chat หรือ Poe เป็นต้น

ประสบการณ์การใช้งาน ChatGPT

          ผู้เขียนลองลงทะเบียนเข้าใช้งาน ChatGPT พบว่ามีฟังค์ชั่นหลากหลายให้เลือกใช้ เช่น การถาม/ตอบ (Q&A) การให้ช่วยแก้ไวยากรณ์ภาษา (Grammar Correction) การสร้างเมนูอาหาร (Recipe Creator) การสนทนา (Chat) เป็นต้น โดยเบื้องต้นผู้เขียนได้ทดลองใช้งานฟังค์ชั่นสนทนาโต้ตอบเพื่อให้ ChatGPT แนะนำอาหารมื้อเย็นให้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าระบบ AI จะสามารถโต้ตอบ รวมถึงให้คำแนะนำต่างๆ เหมือนกับผู้เขียนได้คุยกับคนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ การแนะนำให้สั่งอาหารจากร้านเพื่อไม่ต้องทำอาหารเอง และการเสนอให้ใช้คูปองส่วนลดเพื่อประหยัดเงินค่าอาหาร

รูปที่ 5 ตัวอย่างข้อความบทสนทนาจากการประยุกต์ใช้งานฟังค์ชั่น Chat ของ ChatGPT

ที่มา https://beta.openai.com/examples

นอกจากนั้นผู้เขียนลองสอบถาม ChatGPT ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น หัวข้ออัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจดังนี้

“กลไกสำหรับการใช้อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวแบบเดียวกันอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเทศหรือภูมิภาค แต่โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาสำหรับพลังงานหมุนเวียนที่สามารถแข่งขันได้ หรือต่ำกว่าราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การอุดหนุน การจูงใจทางภาษี หรือโควตาพลังงานหมุนเวียนที่รัฐบาลกำหนด

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสามารถกำหนดอัตรา Feed-in-Tariff (FIT) สำหรับพลังงานหมุนเวียนที่รับประกันราคาคงที่สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน สิ่งนี้ก่อให้เกิดกระแสรายได้ที่มั่นคงสำหรับผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน และช่วยปรับระดับการแข่งขันระหว่างแหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานฟอสซิล

อีกกลไกหนึ่งคือการบังคับใช้ภาษีคาร์บอนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะเพิ่มราคาของพลังงานจากฟอสซิล และทำให้พลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถกำหนดมาตรฐาน Renewable Portfolio Standards (RPS) ซึ่งเป็นข้อบังคับที่กำหนดให้พลังงานส่วนหนึ่งต้องจัดหามาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน

โดยสรุป อัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการได้ผ่านกลไกต่างๆ เช่น Feed-in-Tariff ภาษีคาร์บอน และ Renewable Portfolio Standards”

ข้อคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง

          จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับจากการทดลองใช้ ChatGPT ในเบื้องต้น พบว่าสามารถตอบสนองต่อประเด็นคำถามได้ใกล้เคียงกับการสนทนากับมนุษย์เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาตรวจสอบกลั่นกรองความถูกต้องของเนื้อหาคำตอบก่อนนำไปใช้ต่อไป โดยผู้เขียนเชื่อมั่นว่าในอนาคตโปรแกรมที่ใช้ AI ในลักษณะนี้ จะมีให้เลือกอย่างหลากหลาย และจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในทุกวงการ

          สุดท้ายนี้ ChatGPT ที่รอบรู้ไปซะทุกเรื่อง ได้ฝากข้อเสนอแนะถึงหน้าที่ของมนุษย์ เมื่อ AI รู้ทุกเรื่องแล้ว ไว้โดยสรุป ดังนี้ “ให้ร่วมกันพัฒนามนุษย์และโลกให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก ร่วมมือและแก้ไขปัญหาทั่วโลก เช่น ความยากจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความไม่เท่าเทียมกัน ส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตา และความเข้าใจต่อผู้อื่น ยอมรับความหลากหลายและพยายามที่จะรวมเข้าด้วยกัน” หล่อมาก!!!!!!!!!!

รูปที่ 6 ตัวอย่างข้อความบทสนทนาจาก Chat ของ ChatGPT

ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

มกราคม 2566

ข้อมูลอ้างอิง    

https://openai.com/

https://github.com/saharmor/awesome-chatgpt

Embed
คัดลอกสำเร็จ
ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
Icon

บทความ ChatGPT.pdf

วันที่ 30/01/2566 ขนาดไฟล์ 887 KB จำนวนดาวน์โหลด 635 ครั้ง แจ้งไฟล์เสีย

ดาวน์โหลด