ประวัติความเป็นมา

แต่เดิมนั้นการบริหารจัดการกิจการพลังงานอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. เป็นผู้กำหนดนโยบาย และกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วย ซึ่งทำให้การตรวจสอบการทำงาน รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พระราชบัญญัติฯ) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เพื่อปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานโดยแยกงานนโยบาย งานกำกับดูแล และการประกอบกิจการพลังงาน ออกจากกันอย่างชัดเจน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชน มีส่วนร่วมและมีบทบาทมากขึ้น และเพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง มีปริมาณเพียงพอและทั่วถึง ในราคาที่เป็นธรรม และมีคุณภาพได้มาตรฐานตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ภายใต้ พระราชบัญญัติฯ นี้ กำหนดให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน
อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฯ ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติฯ มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กกพ. ทั้งนี้ กกพ. ชุดแรกได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551

หลังจากมีการแต่งตั้ง กกพ. แล้ว กพช. จึงทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการกิจการพลังงาน ในขณะที่ กกพ. ทำหน้าที่กำกับกิจการพลังงานให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่กำหนด โดย กกพ. มีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการกำกับกิจการพลังงานในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ การกำหนดมาตรฐานการให้บริการพลังงาน และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบการให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
การใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือเพื่อหาสถานที่ตั้งระบบโครงข่ายพลังงานการใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือเพื่อหาสถานที่ตั้งระบบโครงข่ายพลังงาน และการพิจารณาข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการพลังงาน ในการดำเนินงาน กกพ. จะให้ความสำคัญและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้พลังงาน ประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงานในการบริหารจัดการและการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ ทั้งนี้ก่อนการออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด ๆ ของ กกพ. ที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือผู้รับใบอนุญาต จะต้องมีการดำเนินการด้านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นด้วย
นอกจากนี้ กกพ. ยังมีภารกิจในการส่งเสริมพลังงาน หมุนเวียน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสนับสนุนและดำเนินงานตามภารกิจเร่งด่วนตามกรอบนโยบายของรัฐเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
คัดลอกสำเร็จ