บทความด้านพลังงาน

เลือกที่ตั้งอย่างไรให้เหมาะสมกับ Small Modular Reactors (SMRs)

บทความด้านพลังงาน
19 มีนาคม 2567 , 12:00
101
0
0

          ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมอบรมกับห้องปฏิบัติการแห่งชาติแซนเดีย (Sandia National Laboratories) จากประเทศสหรัฐอเมริกาในโปรแกรม FIRST ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สร้างพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactors: SMRs) ให้แก่ประเทศที่สนใจ เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ ความร่วมมือด้านนวัตกรรมและพันธมิตรระหว่างประเทศ จากการอบรมทำให้ทราบว่า ในการเลือกสถานที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราต้องเริ่มจากการศึกษาคู่มือแนวปฎิบัติในการสำรวจและเลือกสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Site Survey and Site Selection for Nuclear Installations) ซึ่งเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นโดย International Atomic Energy Agency (IAEA) โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่างๆ เช่น ความหนาแน่นของประชากร, ข้อมูลแผ่นดินถล่ม, ข้อมูลสถิติน้ำท่วมย้อนหลัง 100 ปี, แหล่งน้ำที่ใช้สำหรับการระบายความร้อน, ข้อมูลการไหลของน้ำ รวมถึงเทคโนโลยีที่นำมาใช้, ต้นทุนที่เกิดขึ้น, สภาพเศรษฐกิจในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และการจ้างงานภายในพื้นที่ เป็นต้น

รูปที่ 1 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อมีการตัดสินใจนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้ามาใช้งาน (ข้อมูลจาก: การอบรมเชิงปฏิบัติการกับห้องปฏิบัติการแห่งชาติแซนเดียในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2567 กรุงเทพฯ)

 

เครื่องมือที่นำมาใช้งานเพื่อเลือกพื้นที่โครงการ

          เมื่อพูดถึงการเลือกพื้นที่โครงการ มีการนำแบบจำลองเพื่อการตัดสินใจมาใช้งาน ซึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ เช่น มีการนำ Light Detection and Ranging (LiDAR) ที่เป็นเทคโนโลยีในการวัดระยะทางโดยใช้คลื่นแสงเพื่อจัดทำชุดข้อมูลในรูปแบบภูมิศาสตร์หรือการสำรวจพื้นที่ในรูปแบบ 3 มิติ ทำงานโดยการส่งแสงเลเซอร์ออกไปยังวัตถุหรือพื้นผิวแล้ววัดระยะเวลาที่แสงเดินทางกลับมา ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้ในการสร้างรูปแบบดิจิทัลของพื้นผิวนั้น เทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมในการใช้การวางแผนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การสำรวจและวิศวกรรม การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี การจัดการภัยพิบัติ และการวิเคราะห์และการจัดการจราจร นอกจากนั้นมีการนำ Google Flood Hub มาใช้ในการพิจารณาทางไหลของน้ำ การนำ HAND (Height Above Nearest Drainage) และ CFIM (Cumulative Field Impact Measure) มาใช้ในการวิเคราะห์และพยากรณ์พื้นที่น้ำท่วม เป็นต้น

 

รูปที่ 2 ข้อมูลผลการวิเคราะห์พื้นที่ของประเทศสหรัฐอเมริกาโดย HAND (Height Above Nearest Drainage)

ที่มา https://cfim.ornl.gov/data/vis/v0.2.0/

 

          การนำ Oak Ridge Siting Analysis for Power Generation Expansion (OR-SAGE) ซึ่งถูกพัฒนาโดย Oak Ridge Nation Laboratory ซึ่งเป็นเครื่องมิอที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาใช้ประเมินที่ตั้งสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยการนำเข้าข้อมูลภูมิศาสตร์ (GIS) ที่หลากหลาย เช่น ความหนาแน่นของประชากร ปริมาณการใช้น้ำ ความใกล้เคียงของแหล่งน้ำ การใช้ที่ดิน สถิติแผ่นดินไหว ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าที่สำคัญของพื้นที่นั้น เช่น มีโครงข่ายไฟฟ้ารองรับการเชื่อมต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เลิกใช้งานแล้ว เป็นต้น

          ขั้นตอนคร่าวๆ ในการประเมินและวิเคราะห์การจัดสรรที่ตั้งสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้เครื่องมือ OR-SAGE ดังนี้

          1. การประเมินพื้นที่: OR-SAGE ใช้ระบบข้อมูลภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อแบ่งพื้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาออกเป็นเซลล์ขนาด 5 เอเคอร์เกือบ 700 ล้านเซลล์ เพื่อวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

          2. วิเคราะห์ตามเงื่อนไขที่กำหนด: ผู้ใช้สามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องการ อาทิเช่น ความใกล้ชิดกับแหล่งน้ำหรือแหล่งทรัพยากรอื่นๆ รวมถึงการคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึง

          3. การใช้ข้อมูลภูมิศาสตร์: OR-SAGE ใช้ข้อมูล GIS ในการประเมินและระบุพื้นที่ที่เหมาะสมตามเงื่อนไขที่ผู้ใช้กำหนด ทำให้สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ใดที่มีศักยภาพสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้า

          4. การประเมินความเหมาะสม: ทำการประเมินว่าพื้นที่ที่ถูกคัดเลือกมีความเหมาะสมตามเงื่อนไขต่างๆ ที่รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นไปได้ด้านการพัฒนา และข้อจำกัดทางเทคนิคหรือกฎหมาย

          กระบวนการนี้ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ตัดสินใจสามารถประเมินและเลือกทำเลที่ตั้งสำหรับการขยายโรงไฟฟ้าในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

รูปที่ 3 หลักการทำงานของ OR-SAGE ที่พัฒนาโดย OAK Ridge National Laboratory

ที่มา https://info.ornl.gov/sites/publications/files/Pub30613.pdf

 

          จากการศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารที่เผยแพร่โดย Oak Ridge Nation Laboratory พบว่ามีการพิจารณาภาพรวมของโรงไฟฟ้าทุกประเภทเชื้อเพลิงประกอบในการเลือกที่ตั้ง SMRs ด้วย ซึ่งมีข้อมูล 14 รายการจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ดังรายละเอียดด้านล่าง

 

 

รูปที่ 4 แสดงข้อมูล 14 รายการจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ Oak Ridge Nation Laboratory ใช้ในการพิจารณาเลือกสถานที่ตั้ง (ที่มา https://bit.ly/3Itzyui)


รูปที่ 5 แสดงผลประเด็นขอบเขตประชากรที่กาหนดกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า Palo Verde (ที่มา https://bit.ly/3Itzyui)

 

รูปที่ 6 แสดงผลสถานที่ตั้งที่เหมาะสมและมีเงื่อนไขตามลาดับ 1 2 3 กับการตั้ง SMRs (ที่มา https://bit.ly/3Itzyuihttps://bit.ly/3Itzyui)


          ซึ่งภายหลังจากประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้สอดคล้องกับกฏหมาย และระเบียบของแต่ละประเทศ ด้วยโปรแกรมทางภูมิศาสตร์ และโปรแกรมประมวลผลอื่นที่พัฒนาขึ้น เช่น Oak Ridge Nation Laboratory ทำให้เราได้กลุ่มพื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้ง SMRs ทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียรวมทั้งประชาชนให้เหลือสถานที่เพียงหนึ่งเดียวที่เหมาะสม

 

รูปที่ 7 พื้นที่ที่สามารถใช้ก่อสร้าง SMRs ได้เป็น % ในแต่ละหัวข้อในประเทศสหรัฐอเมริกา

ที่มา https://bit.ly/3Itzyui


          เมื่อพิจารณาประเด็นที่ต้องคำนึงถึงต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ผู้จัดทำจะได้ข้อมูลดังรูปที่ 7 จะเห็นว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับตั้ง SMRs ในด้านจำนวนประชากรอยู่ที่ 92% พื้นที่เปิดที่น้ำาไม่ลึกอยู่ที่ 86% พื้นที่คุ้มครองอยู่ที่ 69% ความน่าจะเป็นที่จะเกิดแผ่นดินถล่มอยู่ที่ 63% พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำาท่วมขนาดใหญ่ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นเฉลี่ยหนึ่งครั้งในทุกๆ 100 ปี อยู่ที่ 62% และอื่น ๆ เมื่อมีการประมวลผลข้อมูลแล้วเสร็จก็จะนำเสนอในรูปแบบของแผนที่ความเข้มสีตามรูปที่ 6 ในกรณีที่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมในการคัดเลือก % ของพื้นที่ที่ใช้ได้ก็จะลดลงตาม ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า ข้อมูลลำดับที่ 7-10 มีผลต่อพื้นที่ที่สามารถใช้งานได้ กรณีที่เรานำ SMRs แบบระบายความร้อนด้วยอากาศมาใช้งานก็จะสามารถเพิ่มพื้นที่ที่สามารถติดตั้งได้เพิ่มขึ้น ต้องเรียนท่านผู้อื่นเพิ่มเติมว่าประเด็นด้านแหล่งน้ำาไม่เพียงพอเป็นประเด็นที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกา
          หลังจากประเมิน สำรวจและเลือกพื้นที่ที่เหมาะจะสร้างโรงไฟฟ้า ลงรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ ทำการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ก่อนที่จะเตรียมสถานที่ตั้ง และทำการก่อสร้าง ผู้กำกับ ผู้พัฒนาโครงการ และชุมชนท้องถิ่น ต้องมีการทำงานร่วมกัน ตามกฏระเบียบ ประเมินสถานที่ตั้งที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นอย่างเข้มข้น เพื่อนำไปสู่สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการตั้งโรงไฟฟ้า

รูปที่ 8 หลักเกณฑ์การคัดกรองขั้นพื้นฐานของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แต่ละแบบ

ที่มา จาก: การอบรมเชิงปฏิบัติการกับห้องปฏิบัติการแห่งชาติแซนเดียในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2567 กรุงเทพฯ)

 

รูปที่ 9 ผู้เกี่ยวข้องและประเด็นที่เกี่ยวกับการคัดเลือกสถานที่ตั้งและของ Small Modular Reactor

ที่มา https://bit.ly/48XodNV

การระบายความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

          ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภท SMRs จะมีขนาดเล็ก โดยมีขนาดระหว่าง 1-300 MWe แต่มีอุณหภูมิในการปฎิบัติงานอยู่ในช่วงตั้งแต่ 300-900ºC ซึ่งยังจำเป็นต้องได้รับการระบายความร้อน เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป จากข้อมูล SMRs ที่ทางรัสเซียมีการใช้งานทางทะเลเชิงพาณิชย์แล้วในรุ่น KLT-40s ขนาด 35 MW และ RITM-200M ขนาด 50 MW ทำให้ทราบว่าความดันในการเดินระบบจะอยู่ที่ 31.2 kPa-22.064 MPa อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ 70-373.95 องศา

รูปที่ 10 แผนภูมิอุณหภูมิและเอนโทรปี (T-S Diagram) อย่างง่ายในกรณีอุดมคติ ของวงจรแรงค์กีนที่ใช้สำหรับเครื่องยนต์ในการเปลี่ยนความร้อนเป็นแรงกลตั้งแต่การผลิตไอน้ำจากหม้อไอน้ำ (boiler) ไปขยายตัวผ่านกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) ผ่านการควบแน่นในคอนเดนเซอร์ และสูบกลับไปยังห้องไอน้ำเพื่อเพิ่มอุณหภูมิต่อใน SMRs รุ่น KLT-40s ขนาด 35 MW และ SMRs รุ่น RITM-200M ขนาด 50 MW

ที่มา :https://bit.ly/3VcV7a7

 

รูปที่ 11 แสดงค่าอุณหภูมิในรุ่นที่ยังไม่ใช้งานเชิงพาณิชย์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน SMRs หลากหลายรุ่นที่ MW ต่าง ๆ กัน เทียบกับความร้อนจากอุตสาหกรรม กระดาษ เหล็ก ฯลฯ จะเห็นว่า SMR รุ่นต่าง ๆ อุณหภูมิจะไม่สูงเกิน 900 องศา

ที่มา: https://bit.ly/3IxML5g


          โดยจากการอบรมที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมก็ได้มีการยกตัวอย่างการใช้น้ำเพื่อระบายความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Parlo Verde ขนาด 3,937 MW ที่เริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) ตั้งอยู่ในรัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจุดแข็งของโรงไฟฟ้าโรงนี้คือมันตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ราคาค่าน้ำแพงกว่าราคาค่าไฟฟ้า ท่านฟังไม่ผิดครับ ในทะเลทรายโซนอรันของรัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกาที่โรงไฟฟ้าโรงนี้ตั้งอยู่ มีการพิจารณาความคุ้มค่าของน้ำที่จะนำมาใช้ระบายความร้อนในโรงไฟฟ้าเห็นจะมีแต่ต้องนำน้ำเสียมาบำบัดแล้วนำมาใช้งานเพียงเท่านั้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องเดินท่อลำเลียงน้ำจากในเมืองมาเป็นระยะทาง 56 กิโลเมตร

 

รูปที่ 12 โรงไฟฟ้า Parlo Verde ขนาด 3,937 MW ตั้งอยู่ในรัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกา

 

การจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วสำหรับ Small Modular Reactor

          โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดถึง 300 MWe สามารถนำไปใช้กับพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรือสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนโดยการซื้อและขนส่งไปยังจุดที่ต้องการติดตั้งได้ ด้วยประสบการณ์ของประเทศที่มีการนำนิวเคลียร์มาใช้งานแล้วย่อมมีแนวทางในการจัดเก็บและจัดการเชื้อเพลิงได้ไม่ยาก เพราะสามารถดำเนินการได้แบบเดียวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ แต่สำหรับประเทศที่ไม่เคยนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาใช้งานจะต้องมีการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสม

          SMRs ต้องเติมเชื้อเพลิงทุก 3-30 ปี แล้วแต่การออกแบบ ต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปที่เติมทุก 1-2 ปี ผู้ใช้งานจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวงจรเชื้อเพลิงสำหรับเทคโนโลยี SMR แนวทางนี้จะช่วยจัดการกับความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับวงจรเชื้อเพลิง ลดต้นทุน และเพิ่มการยอมรับของสังคมต่อพลังงานนิวเคลียร์ได้ต่อไป


ตัวอย่างการใช้งานจริง และราคาต้นทุนการก่อสร้าง

          ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่าเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก ที่ผ่านมามีการนำมาใช้งานจริงนานแล้วใน 4 ประเทศ 5 รุ่นด้วยกันดังนี้

          1. เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก รุ่น EGP-6 ขนาด 48 MW (4 reactor x 12 MW) ใช้งานในโรงไฟฟ้าบิลิบิโนตั้งอยู่ทางเหนือสุดของโลก บนทุนดรา นอกเมืองเล็ก ๆ ชื่อบิลิบิโนในคาบสมุทรชูคอตกา ห่างทะเลไซบีเรียตะวันออกประมาณ 150 กิโลเมตร ทำหน้าที่จ่ายไอน้ำ ความร้อน ไฟฟ้าให้กับเมืองและสถานที่ขุดเหมืองใกล้เคียง มีการใช้งานจริงตั้งแต่ปี 1974 ในประเทศรัสเซีย และปัจจุบันเลิกเดินเครื่องไปแล้ว

          2. เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก รุ่น KLT-40S ขนาด 171 MW (2 reactor) ใช้งานในทางทะเล มีการใช้งานจริงตั้งแต่ปี 1988 ในประเทศรัสเซีย มีกำหนดเลิกเดินเครื่องในปี 2026 และปี 2027

          3. เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก รุ่น RITM-200 ขนาด 175 MW (10 reactor) ใช้งานในเรือตัดน้ำแข็ง มีการใช้งานจริงตั้งแต่ปี 2023 ในประเทศรัสเซีย มีกำหนดเลิกเดินเครื่องในปี 2026 และปี 2027

          4. เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก รุ่น CNP-300 ขนาด 300 MW ใช้งานในโรงไฟฟ้า Qinshan ซึ่งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang Province) ประเทศจีน ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบ Taihu, ใกล้กับชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีน มีการใช้งานจริงตั้งแต่ปี 1994

          5. เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก รุ่น PHWR-220 ขนาด 220 MW ใช้งานในโรงไฟฟ้ามีการใช้งานจริงตั้งแต่ปี 1984 ในประเทศอินเดีย


          แต่ในกรณีของเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กชนิดโมดูล่าร์ (SMR) ปัจจุบันมีใช้งานทางทะเลที่ประเทศรัสเซียเพียงที่เดียว สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกามีการเริ่มศึกษา SMR ในหน่วยงานระหว่างท้องถิ่นของรัฐยูทาห์ (Utah Associated Municipal Power Systems (UAMPS)) ที่ให้บริการด้านการจัดหาพลังงาน ระบบส่ง และบริการอื่นๆ ที่หลากหลายแก่สมาชิก 50 ราย ซึ่งรวมถึงระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานสาธารณะในภาคตะวันตก 7 แห่งในรัฐยูทาห์ แอริโซนา แคลิฟอร์เนีย ไอดาโฮ เนวาดา นิวเม็กซิโก และไวโอมิง มีแผนที่จะสร้าง SMRs ที่ใช้เทคโนโลยีของบริษัทสัญชาติอเมริกัน NuScale Power ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (SMR) ที่ชื่อ VOYGR โครงการนี้จะตั้งอยู่ใกล้กับน้ำตกไอดาโฮ รัฐไอดาโฮ และจะใช้เครื่องปฏิกรณ์ VOYGR จำนวน 6 เครื่อง ที่แต่ละเครื่องมีกำลังการผลิต 77 MWe, รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 462 MWe โดยมี Fluor Corporation ซึ่งมีประสบการณ์ในการให้บริการนิวเคลียร์ในอุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่การออกแบบ การสนับสนุนการก่อสร้าง การบำรุงรักษามากกว่า 25 แห่ง คอยให้การสนับสนุนผ่านโครงการที่เรียกว่า Carbon Free Power Project (CFPP) อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2566 บริษัท NuScale Power และ UAMPS ได้ตัดสินใจยุติโครงการ CFPP เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก SMRs ที่ $89/MWh ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่การยุติโครงการ

รูปที่ 13 แสดงแนวคิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กของบริษัท Nuscale Power

ที่มา: https://bit.ly/4c8oyQI

 

          ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลโครงการ SMR ของ NuScale จาก BloombergNEF ทราบว่า สาเหตุหลักในการยกเลิกโครงการ SMR ของ NuScale เกิดจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้องใช้เงินลงทุนและความอดทนจากผู้ถือหุ้นมากขึ้น ถึงแม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านนโยบายลดการปล่อยคาร์บอน IRA (Inflation Reduction Act) แล้วก็ตาม ค่าใช้จ่ายทั้งหมดยังอยู่ที่ 5,126 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 169,158 ล้านบาท โดยประมาณ โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าใช้จ่ายรวมที่วางแผนไว้สำหรับการได้มาและการก่อสร้างทั้งหมด

รูปที่ 14 ข้อมูลต้นทุนการพัฒนาและก่อสร้าง Carbon Free Power Project (CFPP) SMR ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2023

ที่มา: BloombergNEF (US Nuclear Faces Challenges in 2024 with Idaho Project End, 4th January 2024)


          แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาก็มีการแผนงานที่จะใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในการผลิต ไฮโดรเจนสีชมพู (Pink Hydrogen) โดยมีการสาธิตให้เห็นที่โรงงาน Nine Mile Point Nuclear Plant ใน Oswego, New York ในสัดส่วนปริมาณไฟฟ้า 1.25 MW ต่อชั่วโมง เพื่อผลิต ไฮโดรเจน 500 kgต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในโรงงาน และยังมีแผนการลงทุน 900 ล้านดอลลาร์ จนถึงปี 2025 เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว

          จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เมื่อต้นทุนการก่อสร้างและการผลิตไฟฟ้าลดลงเหมือนกรณีของพลังงานแสงอาทิตย์กับแบตเตอรี่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการใช้พลังงานนิวเคลียร์ร่วมกับพลังงานสะอาดในอนาคตต่อไป

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับประเทศไทย

          สำหรับกฎหมายนิวเคลียร์ของไทย ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ มีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย

          ขั้นแรกคือการทดสอบระบบซึ่งเรียกว่า "Cold Test" ครับ คือการตรวจสอบว่าทุกอย่างเรียบร้อย พร้อมทำงานได้ดีหรือไม่โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์จริงๆ ถัดมาเป็นการทำ "Hot Test" นั่นคือการทดสอบการเดินเครื่องปฏิกรณ์โดยใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์จริงๆ เพื่อดูว่าทุกอย่างทำงานปกติดีหรือไม่

          และที่สำคัญคือการขอใบอนุญาตจาก สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติด้วยนะครับ อย่าลืมว่ายังต้องเข้าร่วมอนุสัญญานานาชาติที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบจากความเสียหายทางนิวเคลียร์ด้วยนะครับ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ฉบับที่สำคัญมากๆ และสุดท้ายนะครับ คือการมีส่วนร่วมจากประชาชน ทุกขั้นตอนต้องมีการรับฟังความคิดเห็น และทำให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการที่ทุกคนยอมรับและปลอดภัยทั้งสำหรับคนและสิ่งแวดล้อม

             ที่มา : https://bit.ly/43qgFSU

 

ความเห็นของผู้เขียน

          ในอดีตผู้คนมีความเชื่อว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัว เป็นสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายชุมชน แต่ในปัจจุบันจากข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่ ทำให้เราทราบว่า ใน 195  ประเทศทั่วโลกมีกลุ่มประเทศที่ไม่เกรงกลัวต่อความอันตรายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามความเชื่อดังกล่าว ข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งที่บอกว่าภายใต้สถานการณ์ภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน เมื่อโลกจำเป็นต้องลดการใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า นิวเคลียร์จึงเป็นอีกหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยส่งเสริมสถานการณ์ดังกล่าวให้ดีขึ้นในอนาคตได้ แม้เทคโนโลยีที่ว่าจะมีราคาสูงและใช้ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในส่วนของประเด็นด้านระบบนิเวศน์ ควรพิจารณาปริมาณการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดเชื้อเพลิงในพื้นที่ร่วมด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่

 

ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

มีนาคม 2567

ข้อมูลอ้างอิง    

https://www.ornl.gov/division/projects/evaluation-small-modular-reactor-plant-siting

https://www.powermag.com/palo-verde-nuclear-generating-station-wintersburg-arizona/

https://cfim.ornl.gov/data/

Current Status of Reactors Deployment and Small Modular Reactors Development in the World (xylenepower.com)

https://www.nucnet.org/news/pakistan-and-china-ink-agreement-for-new-nuclear-reactor-unit-6-2-2023

https://www-pub.iaea.org/MTCD/Publications/PDF/Pub1690Web-41934783.pdf

https://www.iaea.org/newscenter/news/small-modular-reactors-a-challenge-for-spent-fuel-management

https://thebarentsobserver.com/sites/default/files/atom-rapport_barents_observer_1.pdf

https://en.wikipedia.org/wiki/Qinshan_Nuclear_Power_Plant

https://en.wikipedia.org/wiki/IPHWR-220

https://www.dailynews.co.th/news/3203248/

https://www.constellationenergy.com/newsroom/2023/Constellation-Starts-Production-at-Nations-First-One-Megawatt-Demonstration-Scale-Nuclear-Powered-Clean-Hydrogen-Facility.html

Embed
คัดลอกสำเร็จ