การเงินสำหรับธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน (Green and Sustainable Finance)
ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพประชาชน และระบบเศรษฐกิจทั่วโลก หลายประเทศให้ความใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีความรุนแรงมากขึ้น จึงออกนโยบาย และแผนดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ‘การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ (Net Zero Emission) ขณะที่ผู้บริโภค และธุรกิจก็หันมาใช้สินค้า และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินต่างๆ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน (Net Zero Transition) โดยได้ปรับตัวรองรับเทรนด์นี้โดยออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวที่ยั่งยืน (Green and Sustainable Finance) ในรูปแบบต่างๆ เช่น สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) และเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้เร็วขึ้น เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
องค์กร UN Environment Programme (UNEP) ได้กำหนด 5 แนวทางเพื่อใช้เป็นหลักการในการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย (1) เสริมสร้างแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาตลาดในวงกว้างให้สามารถใช้ได้กับทุกประเทศ (2) ควบคุมงบดุลสาธารณะเพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากเกินจำเป็น (3) ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินโดยตรงผ่านนโยบาย (4) เปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง และ (5) ยกระดับด้านการกำกับดูแล
รูปที่ 1 แนวทางในการใช้เครื่องมือทางการเงิน (Green Financing) เพื่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย UN Environment Programme (UNEP)
ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา ถือเป็นผู้ริเริ่มนำร่อง เรื่อง ‘การเงินสีเขียว’ (Green Finance) ขณะที่ประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มมีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก ในเอกสารการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นการจัดทำครั้งที่ 10 โดยได้ประเมิน 126 เมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านการเงินต่างๆ ทั่วโลก ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการเงินสีเขียว โดยวิเคราะห์จากความพร้อมปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้านของแต่ละเมือง อันได้แก่ (1) ด้านความยั่งยืน (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3) ด้านทรัพยากรมนุษย์ และ (4) ด้านการดำเนินธุรกิจ เพื่อทำการประเมินศักยภาพทางการแข่งขัน (Competitiveness) ของแต่ละเมืองเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการเงินสีเขียว โดยแต่ละด้านจะพิจารณาในเรื่องต่างๆ ดังนี้
จากผลการวิเคราะห์ประเมินปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้านดังกล่าวข้างต้นพบว่า London ได้อันดับ 1 ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความยั่งยืน ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ Amsterdam ได้อันดับ 1 ในด้านการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ New York ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ติดอยู่ใน 3 ลำดับแรกในการประเมินทุกด้าน
รูปที่ 2 ผลการจัดอันดับ 15 เมืองศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวในด้านศักยภาพทางการแข่งขัน 4 ด้าน
ที่มา https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf
จากการประเมินศักยภาพด้านการแข่งขันในภาพรวมในการศึกษา GGFI ครั้งที่ 10 พบว่า London ยังคงครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง ในขณะที่ Amsterdam ได้อันดับสองในการศึกษาครั้งนี้ โดยทั้งสองเมืองมีลำดับไม่เปลี่ยนแปลงจากศึกษาครั้งที่ผ่านมา ตามด้วย New York ซึ่งขยับจากอันดับ 5 ในการศึกษาครั้งก่อน มาที่อันดับ 3 ในครั้งนี้
ใน 10 ลำดับแรก (Top 10) มีเมืองที่อยู่ในทวีปยุโรปติดอันดับมากถึง 6 เมือง ได้แก่ London, Amsterdam, Luxembourg, Geneva, Stockholm และ Copenhagen ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 3 เมือง ได้แก่ New York, San Francisco และ Los Angeles โดยออสเตรเลียติดอันดับ 1 เมือง คือ Sydney
รูปที่ 3 ผลการจัดอันดับ 10 เมืองศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวในปี 2566 จากการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ครั้งที่ 10
ที่มา https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf
นอกจากนั้นจากผลการศึกษา GGFI ครั้งที่ 10 พบว่ามาตรฐานการเงินสีเขียวทั่วโลกปรับดีขึ้น โดยใน 20 ลำดับแรก (Top 20) ประกอบด้วย 4 เมืองในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ Seoul (ลำดับที่ 12), Singapore (ลำดับที่ 16), Shanghai (ลำดับที่ 17) และ Shenzhen (ลำดับที่ 20) ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า 2 เมืองในจีนมีการปรับตัวดีขึ้นมาก จากการที่รัฐบาลจีนได้ยกระดับปัญหามลพิษทางอากาศมาเป็นวาระแห่งชาติ และลงมือแก้ไขตามแผนอย่างเข้มงวดจนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
รูปที่ 4 ผลการจัดอันดับ 20 เมืองศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวในการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ครั้งที่ 10 เทียบกับครั้งที่ 9
ที่มา https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf
สำหรับการจัดอันดับเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนในการศึกษาของ GGFI ครั้งที่ 10 พบว่า Singapore (ลำดับที่ 16), Kuala Lumpur (ลำดับที่ 46), Bangkok (ลำดับที่ 57) และ Jakarta (ลำดับที่ 60) โดยทุกเมืองในอาเซียนปรับตัวดีขึ้นและได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากการจัดอันดับครั้งก่อน
จากการเปรียบเทียบคะแนนผลการดำเนินการเฉลี่ยของศูนย์กลางด้านการเงินสีเขียวในแต่ละภูมิภาคพบว่ากลุ่มประเทศในยุโรปมีคะแนนสูงที่สุดในทุกการจัดอันดับของ GGFI ตั้งแต่ครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ตามด้วยทวีปอเมริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิค ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกันมาก โดยประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆ ในอนาคต สำหรับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา แคริเบียน ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในกลุ่มท้ายๆ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มากขึ้นต่อไป
รูปที่ 5 เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของเมืองศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวในแต่ละภูมิภาคจากการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึง 10
ที่มา https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf
สำหรับการเงินสีเขียวในประเทศไทย ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีสัดส่วนที่น้อยมาก แต่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการของไทยเริ่มมีการปรับตัวตามโมเดลธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งภาคการธนาคารของไทยเริ่มตื่นตัว และให้การสนับสนุนธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้สินเชื่อสีเขียวกับธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น พลังน้ำ ลม ชีวภาพ และชีวมวล
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน คำนิยามของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ พันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว และการลงทุนสีเขียว จะได้ถูกจัดสรรไปยังกิจกรรมที่ถูกต้อง รวมถึงแต่ละภาคส่วนมีความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดสรรเงินทุนยังไม่ตรงจุดซึ่งอาจนำไปสู่การกล่าวอ้างเกินจริงว่ามีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว (Greenwashing) หรือการจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจที่ต้องการปรับตัวโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Activities) ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) เพื่อให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน มีความเข้าใจตรงกัน และมีจุดยึดโยงให้นำไปใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบาย วางแผนเชิงกลยุทธ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการของภาคธุรกิจได้อย่างมีมาตรฐาน และสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละภาคส่วนสามารถประเมินสถานะการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถวางแผนรองรับการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สอดคล้องกับบริบทของไทยได้อย่างเหมาะสม และทันการณ์
Thailand Taxonomy ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนก และจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย โดย Thailand Taxonomy จะกำหนดคำนิยาม คำอธิบาย เงื่อนไข และตัวชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นคู่มือให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ และประเมินได้ตรงกันว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นมีการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม หรือไม่ และอยู่ในระดับใด โดยการพัฒนา Thailand Taxonomy ได้คำนึงถึงบริบทของประเทศ และความสอดคล้องกับมาตรฐานต่างประเทศ (Inter-operability) เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างทั่วถึง
Thailand Taxonomy สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ในภาคการเงินจะใช้เป็นแนวทางเพื่อออกตราสารทางการเงินสำหรับกิจกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
รูปที่ 6 ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก Thailand Taxonomy
ที่มา https://www2.deloitte.com/th/en/pages/about-deloitte/articles/thailand-taxonomy-th.html
สำหรับการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน Thailand Taxonomy จะคำนึงถึง 2 มิติสำคัญ ได้แก่ วัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และภาคเศรษฐกิจที่จะดำเนินการ โดยในการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะเริ่มจากวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อง Climate Change Mitigation ก่อน และจะครอบคลุมภาคพลังงาน และภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง
รูปที่ 7 โมเดลแสดงการประเมินกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยแบ่งออกเป็น 3 สี ตามสัญญาณไฟจราจร
การจัดทำ Thailand Taxonomy ใช้หลักการที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจะแบ่งการคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับตามระบบสัญญาณไฟจราจร (Traffic-Light System) ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ดังนี้
ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
เมษายน 2566
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bangkokbanksme.com/en/8sme3-guidelines-for-green-loans
https://www.bot.or.th/landscape/green/directions/taxonomy/
https://www.bot.or.th/Thai/SustainableBanking/Documents/Thailand_Taxonomy_phase_1.pdf
https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf
คุณกำลังส่งข้อมูลเพื่อติดต่อกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับ
กิจการพลังงาน กรุณาตรวจสอบข้อมูล และยืนยันการส่งข้อมูล