บทความด้านพลังงาน

เมืองอัจฉริยะในปัจจุบัน

บทความด้านพลังงาน
30 พฤศจิกายน 2565 , 12:00
1099
1
0

          จากเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2562 สำนักงานสาธารณสุขเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยได้ออกประกาศเป็นทางการว่า พบกลุ่มก้อนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ จนในปัจจุบันผู้คนทั่วโลกต่างเรียกมันว่า โควิด-19 (COVID-19) เป็นตัวเร่งที่สำคัญทำให้ประชาชนชาวไทยมีความตื่นตัวเรื่องข้อมูลมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น การติดตามยอดผู้ป่วย ยอดผู้ฉีดวัคซีน ยอดผู้ติดเชื้อยืนยันในแต่ละวัน การเก็บข้อมูลประวัติการเดินทางของผู้คน ทำให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นไปที่การให้บริการในรูปแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เช่น แอปพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่อให้บริการทางการแพทย์ ส่งผลให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายๆ ส่วนงานเข้าด้วยกันกลายเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

รูปที่ 1 เมืองอัจฉริยะ

ที่มา: https://hilight.kapook.com/gallery/208944/394236

         

      เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ถือเป็นแนวคิดและความท้าทายหนึ่งที่จะช่วยลดความเลื่อมล้ำทางสังคม ลดปัญหาการจราจร ลดมลพิษ ลดความแออัดในการเดินทางและการอยู่อาศัยในเมือง ทำให้คุณภาพในการดำรงชีวิตของประชาชนสูงขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ภายใต้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้งานของภาครัฐ เอกชน และประชาชน

          ตามข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ระบุว่าการจะก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์แบบได้นั้น ควรมีองค์ประกอบทั้ง 7 ด้าน ดังนี้

          1.Smart Environment: สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการให้เป็นระบบ และทำให้ประชาชนรู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

          2. Smart Economy: เศรษฐกิจอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

          3. Smart Energy: พลังงานอัจฉริยะ บริหารจัดการพลังงานอย่างมั่นคง ควบคุมการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่ได้สมดุล และลดการใช้พลังงานไฟฟ้า
          4. Smart Governance: การปกครองอัจฉริยะ พัฒนาระบบบริการของรัฐให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐได้สะดวก โปร่งใส มีการปรับปรุงผ่านนวัตกรรมบริการอย่างต่อเนื่อง
          5. Smart Living: การดำรงชีวิตอัจฉริยะ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย และมีความสุข
          6. Smart Mobility: การสัญจรอัจฉริยะ พัฒนาระบบจราจรและขนส่ง มีการเชื่อมโยงที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
          7. Smart People: พลเมืองอัจฉริยะ มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ และเปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วม

รูปที่ 2 เป้าหมายการประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน โดย DEPA

ที่มา: https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan

          นอกจากนั้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการวางแผนและบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน 4 เสาหลักดังแสดงในรูป

รูปที่ 3 แนวคิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

ที่มา: https://www.researchgate.net/publication/331585560_Smart_Sustainable_Cities_-Vision_and_Reality

 

          นอกจากนี้หากในอนาคตมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มมากขึ้น เมืองอัจฉริยะจำเป็นต้องเตรียมระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองปริมาณการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และเมื่อมองมิติด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก้าวขึ้นสู่เมืองอัจฉริยะยังมีเรื่องมากมาย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร (Information and communications technology: ICT) ใช้รับส่งข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ ประมวลผล ลดการสูญเสียทรัพยากรที่ไม่จำเป็น การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาโดรนใช้ในการบริการ สำรวจ เก็บข้อมูล การนำกล้องวงจรปิดใช้ในการตรวจสอบความเคลื่อนไหว และเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน โดยเทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเมืองอัจฉริยะ ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน

รูปที่ 4 สถาปัตยกรรม ICT สำหรับ Smart City

ที่มา: https://www.researchgate.net/publication/331585560_Smart_Sustainable_Cities_-Vision_and_Reality

 

          ข้อสำคัญคือต้องให้ประชาชนทุกคนมีทักษะที่จำเป็น สามารถเข้าถึงการใช้งาน Application ต่าง ๆ ร่วมไปกับการพัฒนาเมืองมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ สร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ออกแบบผังเมืองและการวางผังเมืองก็จำเป็นต้องปรับให้เข้ากับความท้าทายใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กับผู้อยู่อาศัยในเมืองนั้น ๆ เพื่อลดระดับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ลดการหาประโยชน์จากผู้ฉวยโอกาส

สถานการณ์เมืองอัจฉริยะในระดับโลก

          ดัชนีเมืองอัจฉริยะ (Smart City Index: SCI) จัดทำโดย Institute for Management Development (IMD) และ Singapore University of Technology and Design (SUTD) ประจำปี 2564 ได้ประเมินการรับรู้ของประชาชนต่อการมีอยู่ของโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในแต่ละเมือง ผ่านชุดคำถามที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล การจดจำใบหน้า ความไว้วางใจต่อหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงคำถามด้านสุขภาพและความปลอดภัย การเคลื่อนไหว กิจกรรม โอกาสในการทำงานและโรงเรียน และธรรมาภิบาล โดยสุ่มสำรวจผู้คนจำนวน 120 คนในแต่ละเมืองกว่า 124 เมืองทั่วโลก จากผลการสำรวจพบว่าอันดับ 1 คือสิงคโปร์ ตามด้วยซูริค และออสโล ในลำดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ นอกจากนั้น 3 เมืองในสวิสเซอร์แลนด์ได้รวมอยู่ในรายชื่อ 10 ลำดับแรก เนื่องจากมีระบบการรักษาพยาบาลที่ดี และชาวเมืองยังมีระบบการศึกษาเพิ่มเติมที่มีการพัฒนาอย่างดี ด้วยความสามารถทางดิจิทัลอยู่ในระดับสูง

รูปที่ 5 ผลการจัดอันดับ Smart Cities ประจำปี 2564

ที่มา: https://www.quantumesco.it/en/2021-global-smart-city-index/

         

      การเป็นตัวแทนเมืองอัจฉริยะในภูมิภาคของตนเองอย่าง นครนิวยอร์ก ในอเมริกาเหนือ กรุงอาบูดาบี ในตะวันออกกลาง และมอสโกว ในยุโรปตะวันออก และบัวโนสไอเรส ในละตินอเมริกา หรือไคโร ในแอฟริกา ผ่านการรับรู้ของผู้อยู่อาศัยในเมืองว่าเทคโนโลยีสามารถพัฒนาชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร จากข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมที่นำมาจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติ (HDI) โดยผลคะแนนที่ได้สามารถจัดกลุ่มเอง ออกได้เป็น 4 กลุ่ม โดยเมืองที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 มีคะแนน HDI สูงสุด จากผลสำรวจผู้คนในเมืองต่างให้ความสำคัญกับการเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงมาเป็นอันดับแรก รวมถึงคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น บริการด้านสุขภาพ ในส่วนของประเทศที่ร่ำรวยมีการให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมเข้ามา

 

รูปที่ 6 การจัดกลุ่มตามคะแนนในโครงการจัดทำดัชนีเมืองอัจฉริยะของ IMD-SUTD Smart City Index (SCI) ประจำปี 2564

ที่มา: https://www.imd.org/globalassets/wcc/docs/smart_city/smart_city_index_methodology_and_groups.pdf

สถานการณ์เมืองอัจฉริยะในประเทศไทย

          สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ดำเนินการภายใต้แผนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) มีการตั้งเกณฑ์การให้คะแนนเพื่อรับตราสัญลักษณ์รับรองการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งจะมีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ 5 ด้าน โดย ณ สิงหาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 30 เมืองได้รับการคัดเลือก

 

รูปที่ 7 หลักเกณฑ์การพิจารณาประเมิน Smart City โดย DEPA

ที่มา: https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan

 

รูปที่ 8 รายชื่อ Smart City โดย DEPA ณ เดือนสิงหาคม 2565

ที่มา: https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan

 

รูปที่ 9 ตราสัญลักษณ์ โดย DEPA

ที่มา: https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan

 

ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

พฤศจิกายน 2565

ข้อมูลอ้างอิง    

https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan

https://www.imd.org/globalassets/wcc/docs/smart_city/smart_city_index_methodology_and_groups.pdf

https://www.researchgate.net/publication/331585560_Smart_Sustainable_Cities_-Vision_and_Reality

Embed
คัดลอกสำเร็จ