โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์: จำเป็นและปลอดภัยจริงหรือ
บทความโดย ชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
บทความโดย
ชวลิต พิชาลัย
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
"ไม่ต้องอาศัยพลังงานนิวเคลียร์มาผลิตไฟฟ้าหรอก...อันตราย หากสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาก็แย่กันพอดี"
"แต่ถ้ามีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ดีไปอย่าง เพราะทรัพยากรธรรมชาติบ้านเราเหลือน้อยลงทุกที ถ้าได้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ ค่าไฟอาจจะถูกลง ไม่ต้องจ่ายแพงเหมือนตอนนี้"
บทสนทนาว่าด้วย "สร้าง-ไม่สร้าง" โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยดังขึ้นมานานแล้ว ถึงตอนนี้บทสรุปยังไม่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะหันหลังให้โครงการที่เข้าขั้น "เมกะโปรเจคต์" นี้หรือไม่ หรือจะมุ่งหน้าเดินไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากเป็นอีก "ทางเลือก" หนึ่งของการจัดหาพลังงานของประเทศ
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA)ได้ระบุว่า กว่า 50 ปี ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและบริการต่างๆ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน เริ่มตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Obninsk ของสหภาพโซเวียต ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงแรกของโลก จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี พ.ศ. 2497 ต่อมาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงที่ 2 ของโลกถูกสร้างขึ้นที่เมือง Calder Hall ในประเทศอังกฤษ และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์เมื่อปี พ.ศ. 2499 และในปี พ.ศ. 2500 สหรัฐอเมริกาก็จ่ายกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงแรกที่เมือง Shipping port รัฐเพนซิลวาเนีย และในปี พ.ศ. 2502 ฝรั่งเศสก็เริ่มมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย ปัจจุบันทั่วโลกใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 371,989 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั่วโลก ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 436 โรง กระจายอยู่ใน 30 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจ หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เกิดขึ้น 8 โรงทุกปี ปัจจุบันยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่อยู่ระหว่างกำลังก่อสร้าง 45 โรง ใน 13 ประเทศ อยู่ในแผนการก่อสร้าง 94 โรง และอยู่ในข้อเสนอขอก่อสร้างอีก 222 โรง ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีความผันผวน และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีการเผาไหม้หรือสันดาปภายใน ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจึงไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) และไนตรัสออกไซด์(N2O) ซึ่งเป็นที่มาของปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน
ตารางที่ 1 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยออกมาแยกตามประเภทโรงไฟฟ้า
ประเภทโรงไฟฟ้า |
กรัมต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง |
ถ่านหิน |
800 |
ก๊าซธรรมชาติ (Combined Cycle: CC) |
427 |
พลังงานนิวเคลียร์ (Pressurized Water Reactor: PWR) |
6 |
เซลแสงอาทิตย์ |
150 |
พลังงานลม |
22 |
พลังน้ำ |
6 |
ที่มา: วารสารพลังงานและเทคโนโลยี ฉบับที่ 3/2550 เมษายน – มิถุนายน 2550
ประเทศไทยมีความคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เริ่มจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มศึกษาความเหมาะสมของโครงการและเลือกสถานที่ตั้งในปี 2510 ต่อมารัฐบาลได้เห็นชอบโครงการ และกำหนดใช้ปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (BWR) ขนาด 600 เมกะวัตต์ ในปี 2513 ที่อำเภออ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี หลังจากนั้น กฟผ. ได้เสนอขออนุมัติเพื่อเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในปี พ.ศ. 2519 แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยเฉพาะในประเด็นที่สาธารณชนส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีและเรื่องการกำจัดกากของนิวเคลียร์ ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ อย่างไรก็ดีจากการค้นพบแหล่งลิกไนต์ขนาดใหญ่ที่จังหวัดลำปางและต่อมาได้มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไปโดยไม่มีกำหนด และหันไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนลิกไนต์และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทน ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่รัฐบาลตั้งใจจะให้เกิดขึ้นจึงหยุดไป
ต่อมาได้มีแนวคิดเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจและศึกษาสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และได้สถานที่ตั้งที่เหมาะสม จำนวน 5 แห่ง แต่เนื่องจากไม่มีนโยบายที่แน่ชัดโครงการจึงไม่ได้ดำเนินการต่อ จนกระทั่งถึงปี 2550 รัฐบาลจึงตระหนักถึงปัญหาการผลิตไฟฟ้า ปัญหาคือ ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ภายในประเทศ คิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 1.03 ล้านล้านบาทต่อปี และต้องพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ราคาเชื้อเพลิงก็เพิ่มขึ้นมากตามราคาน้ำมัน รวมทั้งกับปัญหาภาวะโลกร้อน จึงทำให้เกิดความต้องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้บรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ในปี 2563 จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ และอีก 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2564 รวมทั้งเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นภายในกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในด้านการศึกษาความเป็นไปได้ การคัดเลือกพื้นที่ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง การกำกับดูแลด้านความปลอดภัย และการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดเตรียมด้านบุคลากร และการคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการสร้างการยอมรับของประชาชนต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งนี้รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับคณะรัฐมนตรี ในการตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการดังกล่าวนี้หรือไม่ในต้นปี 2554
จุดแข็งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ นอกเหนือจากช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังมีต้นทุนเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ในปี 2563 ราคาต้นทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 2.79 บาทต่อหน่วย แม้ว่าค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะสูงกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินถึงประมาณ 2 เท่า แต่เนื่องจากเชื้อเพลิงยูเรเนียมมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาก ตัวอย่างเช่น ถ่านหิน 1 กิโลกรัม ผลิตไฟฟ้าได้ 3 หน่วย ขณะที่ ยูเรเนียม 1 กิโลกรัม ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 3 แสนหน่วย ซึ่งหมายถึง ประสิทธิภาพด้านเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 1 แสนเท่านั้นเอง
ตารางที่ 2 พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเชื้อเพลิง 1 กิโลกรัม
ที่มา: การไฟฟ้าผลิตฝ่ายแห่งประเทศไทย (2550)
แต่ในด้านจุดอ่อนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เราก็ต้องดูให้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยจากการรั่วไหลของกัมมันตรังสี และการจัดการกากกัมมันตรังสี ทั้งนี้ในการกำกับดูแลความปลอดภัยโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานของ IAEA ที่สำคัญ 3 ประการ คือ ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Safety) ความมั่นคงปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Security) และการพิทักษ์ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Safeguards) ซึ่งความรับผิดชอบโดยตรงเป็นของผู้ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตั้งอยู่ ซึ่งรัฐจะเป็นผู้กำกับดูแลความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ซึ่งหน่วยงานที่สมควรทำหน้าที่นี้ของไทย คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยการดำเนินการกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ในการเดินเครื่องปกติหรือในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ส่วนวัสดุนิวเคลียร์นอกจากกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังมีหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติคือ IAEA มาควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่งว่า ไม่นำเอาวัสดุนิวเคลียร์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ในการทำอาวุธนิวเคลียร์
กับคำถามที่ว่า ผู้คนยังเป็นห่วงกังวลเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีความคล้ายคลึงกับระเบิดนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพร้ายแรง กระทรวงพลังงานจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนว่าจริงๆ แล้วสมรรถนะหรือความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีหรือยูเรเนียม 235 มีเพียงแค่ 3-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ความเข้มข้นของการทำระเบิดต้องมีมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะฉะนั้นความเข้มข้นไม่สูงเหมือนทำระเบิด นอกจากนี้ต้องให้ข้อมูลกับประชาชนว่า นโยบายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของไทยไม่ส่งเสริมการเสริมสมรรถนะ (Enrichment) และการนำเชื้อเพลิงใช้แล้วมาสกัดซ้ำ (Reprocessing) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าเท่านั้นมิใช่การทำระเบิด
สิ่งที่คนกลัวประการถัดมา คือเรื่องความปลอดภัย จะเกิดเหตุระเบิดเหมือนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่สหภาพโซเวียตในปี 2529 ไหม? จะเป็นมะเร็งหรือไม่ ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า ต้องดูเรื่องของการออกแบบและเทคโนโลยี ปัจจุบันมีระบบการก่อสร้างอยู่ในรุ่นที่ 3 ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นลำดับแรก มีระบบป้องกันหลายขั้นตอน โดยเฉพาะตัวเตาปฏิกรณ์ มีเหล็กกล้าหนาถึง 6 มิลลิเมตร คลุม 1 ชั้น และมีปูนซีเมนต์ชนิดพิเศษหนาถึง 2 เมตร ครอบอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลสู่ภายนอก ทำอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้ มีระบบควบคุมการ ขนส่งเชื้อเพลิงที่เคร่งครัด นอกจากนี้ ในเรื่องของการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเมื่อเดินเครื่องครบ 18 เดือน เวลาเปลี่ยนจะนำเชื้อเพลิงใช้แล้วประมาณหนึ่งในสามไปแช่น้ำที่อยู่ภายในตัวอาคารโรงไฟฟ้า พอแช่น้ำไปแล้วประมาณ 3-5 ปี เพื่อลดระดับรังสีให้อยู่ในระดับปกติแล้ว นำขึ้นจากน้ำมาทำให้แห้งแล้วค่อยนำไปเก็บที่อาคารซึ่งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า หรือเก็บไว้ใต้ดินในระดับความลึกตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีนโยบายที่จะแปรสภาพเชื้อเพลิงใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากมีเป้าประสงค์ในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในทางสันติเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตเป็นอาวุธนิวเคลียร์ สำหรับการเก็บและการกำจัดกากกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของประชาชน ก็มีขบวนการดำเนินการตามมาตรการของ IAEA อย่างรอบคอบและเคร่งครัดเพื่อให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยกับชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
สำหรับการปลดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (Decommissioning) เป็นการเลิกใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เปรอะเปื้อนรังสี และการขนย้ายเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกจากแกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ นำไปเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากคำแนะนำของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตามหลักสากล การจัดการปลดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มี 3 วิธี ดังนี้
สรุป
ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อเป็นพลังงานเลือกใหม่ที่สำคัญในช่วง 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากทรัพยากรพลังงานซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จะเริ่มหายากและไม่เพียงพอ ประกอบกับประเทศต้องหาหนทางในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้งเพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าอย่างมั่นคงด้วยต้นทุนค่าไฟฟ้าถูก ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจให้แก่ประเทศโดยรวม และประการสำคัญความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในปัจจุบัน ก็มีความปลอดภัยเพียงพอและอยู่ในระดับที่เชื่อมั่นและไว้วางใจได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรปิดกั้นทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศด้วยพลังงานนิวเคลียร์ โดยจะต้องทำการศึกษาและเตรียมการอย่างจริงจัง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทยสมควรดำเนินการก่อสร้างในอนาคตหรือไม่ โดยหากประชาชนไทยตัดสินใจให้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะ กฟผ. จะต้องรับผิดชอบร่วมกันที่จะดำเนินโครงการนี้ด้วยความมั่นคงและปลอดภัยเพียงพอ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ แก่ลูกหลานของเราในอนาคต
แผนภาพที่ 1 การสร้างความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
แผนภาพที่ 2 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตารางที่3 สรุปขั้นตอนสำคัญของแผนงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ระยะที่ 0.1 |
ปี 2550 |
เตรียมการขั้นต้น (เตรียมการศึกษา) |
ระยะที่ 1 |
ปี 2551-2553 |
เตรียมเริ่มโครงการ |
ระยะที่ 2 |
ปี 2554-2556 |
จัดทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ |
ระยะที่ 3 |
ปี 2557-2562 |
ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ |
ระยะที่ 4 |
ปี 2563-2564 |
เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ |
ที่มา: สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (2550)
แผนภาพที่ 3 ขั้นตอนสำคัญของแผนงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
2550 2554 2557 2563
ที่มา: สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (2550)
แผนภาพที่4 การจัดเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว ในบ่อน้ำและเก็บแบบแห้ง
ที่มา: สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (2550)
คุณกำลังส่งข้อมูลเพื่อติดต่อกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับ
กิจการพลังงาน กรุณาตรวจสอบข้อมูล และยืนยันการส่งข้อมูล