ความเป็นไปได้ของการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน (24/7 Carbon-Free Energy)

บทความด้านพลังงาน
05 กุมภาพันธ์ 2568 , 12:00
564
3
0

1. ที่มาและความสำคัญของการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน

ในปัจจุบันการจัดซื้อพลังงานสะอาดเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างความยั่งยืนขององค์กร และเป็นหนึ่งในแนวทางสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในยุคที่การปล่อยคาร์บอนนั้นถูกนับเป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยในปัจจุบันมีแนวทางที่เรียกว่า การใช้พลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน (24/7 Carbon-Free Energy: 24/7 CFE) ซึ่งเป็นการชดเชยความต้องการใช้ไฟฟ้าขององค์กรด้วยพลังงานสีเขียวในทุกชั่วโมง แนวทางนี้อาศัยการจัดการที่ซับซ้อนและมีต้นทุนสูง ทำให้ในปัจจุบันถูกจำกัดเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และมีเงินทุนจำนวนมาก โดยมีตัวอย่างแพร่หลายในประเทศอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยบริษัทจำนวนหนึ่ง เช่น Google, Microsoft และ Meta ได้ก้าวเข้าสู่กลุ่มผู้ริเริ่มและเป็นผู้นำในการพยายามบรรลุเป้าหมายนี้ ที่เรียกว่ากลุ่ม 24/7 Initiatives

รูปที่ 1 สมาชิกกลุ่ม 24/7 Initiatives

รูปที่ 1 สมาชิกกลุ่ม 24/7 Initiatives

2. การใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน

แนวคิดของการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน มีที่มาจากวิวัฒนาการของการจัดซื้อพลังงานสะอาดขององค์กร (Corporate Procurement) โดยกระบวนการจัดซื้อพลังงานสะอาดได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก ทั้งในด้านวิธีการและขนาด ซึ่ง Bloomberg ได้นิยามจุดเปลี่ยนสำคัญดัง

ยุคก่อน PPA (Pre-PPA Era)

ก่อนการเกิดขึ้นของข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreements - PPA) แบบนอกสถานที่ (Offsite PPA) บริษัทส่วนใหญ่พึ่งพารูปแบบการจัดซื้อพลังงานสะอาดที่มีผลกระทบน้อยกว่า เช่น การซื้อใบรับรองพลังงานสะอาด (Renewable Energy Certificates) หรือการติดตั้งแผงโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ในสถานที่ (Onsite Solar)

ยุค PPA (PPA Era)

ในปี 2015 เมื่อ Apple ลงนามข้อตกลง PPA ขนาด 153 เมกะวัตต์ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นการจัดซื้อที่ได้รับความสนใจจากสื่ออย่างมาก ข้อตกลงดังกล่าวเป็นตัวอย่างซึ่งก่อให้เกิดการจัดซื้อพลังงานสะอาดผ่าน PPA เป็นจำนวนมาก

ยุคพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง (24/7 Era)

ในเดือนตุลาคม 2018 เมื่อ Google ประกาศกลยุทธ์พลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าในช่วงแรกจะมีการสนับสนุนน้อย แต่ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งและโครงการริเริ่มจำนวนมากที่มุ่งเน้นแนวทางนี้

รูปที่ 2 ผังแสดงวิวัฒนาการของการซื้อพลังงานไฟฟ้าสีเขียว

รูปที่ 2 ผังแสดงวิวัฒนาการของการซื้อพลังงานไฟฟ้าสีเขียว

โดยรูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (Corporate PPA) เป็นเครื่องมือสำคัญที่องค์กรใช้ในการจัดหาพลังงานสะอาดโดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่

  1. Onsite PPAs ซึ่งเป็นการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนในสถานที่ของผู้ซื้อ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา
  2. Direct PPAs คือการซื้อพลังงานโดยตรงจากผู้ผลิตที่อยู่ในโครงข่ายเดียวกัน
  3. Sleeved PPAs การซื้อพลังงานผ่านตัวกลาง เช่น ผู้ให้บริการไฟฟ้า ทำหน้าที่ส่งต่อพลังงานสะอาดไปยังผู้ซื้อ
  4. Virtual PPAs ซึ่งช่วยตรึงราคาต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านข้อตกลงทางการเงินเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคา โดยไม่มีการส่งมอบพลังงานจริง

ข้อตกลงทั้งหมดนี้ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ลดการปล่อยคาร์บอน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด

รูปที่ 3 โครงสร้างของ Corporate PPA (ตามนิยามที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา)

รูปที่ 3 โครงสร้างของ Corporate PPA (ตามนิยามที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา)

2.1 เป้าหมายการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง (24/7 CFE)

การบรรลุเป้าหมาย พลังงานปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง หมายถึง การใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าคาร์บอนฟรีในการตอบสนองทุกหน่วยของการใช้ไฟฟ้าในทุกชั่วโมง ทุกวัน และทุกพื้นที่ โดยมีหลักการสำคัญดังนี้

(1) การจัดหาพลังงานตามเวลา (Time-Matched Procurement)
  • ความหมาย: จัดหาและใช้พลังงานคาร์บอนฟรีให้สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าในแต่ละชั่วโมง
  • วัตถุประสงค์: เชื่อมโยงการซื้อพลังงานสะอาดเข้ากับการบริโภคพลังงานจริงในแต่ละช่วงเวลา แทนที่จะชดเชยโดยเฉลี่ยรายปี
(2) การจัดหาพลังงานในพื้นที่ (Local Procurement)
  • ความหมาย: การจัดหาพลังงานสะอาดจากแหล่งพลังงานในพื้นที่หรือภูมิภาคที่มีการใช้ไฟฟ้า
  • วัตถุประสงค์: ลดการปล่อยมลพิษที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารับผิดชอบโดยตรง และสนับสนุนให้โครงข่ายพลังงานในท้องถิ่นสะอาดขึ้น
(3) การใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย (Technology-Inclusive Approach)
  • ความหมาย: ยอมรับการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนฟรีหลากหลายประเภท เช่น พลังงานหมุนเวียนและพลังงานคาร์บอนฟรีรูปแบบอื่น เช่น นิวเคลียร์ และไฮโดรเจน
  • วัตถุประสงค์: เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบไฟฟ้าคาร์บอนเป็นศูนย์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสะอาดที่มีอยู่ทั้งหมด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ นิวเคลียร์ ความร้อนใต้พิภพ และไฮโดรเจน
(4) การเพิ่มการผลิตพลังงานใหม่ (Enabling New Generation)
  • ความหมาย: สนับสนุนการลงทุนในโครงการพลังงานคาร์บอนฟรีใหม่ ๆ (Additionality) เพื่อเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดในระบบ
  • วัตถุประสงค์: ผลักดันการลดการปล่อยมลพิษอย่างรวดเร็ว ด้วยการเพิ่มปริมาณของพลังงานสะอาดในโครงข่ายไฟฟ้า
(5) การเพิ่มผลกระทบต่อระบบ (Maximizing System Impact)
  • ความหมาย: มุ่งเน้นไปที่ช่วงเวลาที่การใช้พลังงานไฟฟ้าทำให้เกิดการปล่อยมลพิษสูงสุด ซึ่งมักเกิดจากการผลิตพลังงานด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล และทดแทนด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
  • วัตถุประสงค์: ลดการปล่อยมลพิษในช่วงเวลาที่การใช้พลังงานฟอสซิลสูงสุด และทดแทนด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเป้าหมายการลดคาร์บอน

ในการบรรลุเป้าหมาย 24/7 CFE บริษัทต่างๆ ต้องมีแผนการจัดหาพลังงานที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยมีความเข้มงวดมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 100% โดยในกลยุทธ์การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (ซึ่งเป็นเป้าหมายที่พบได้บ่อยที่สุดในโครงการต่างๆ เช่น RE100) บริษัทจะชดเชยการใช้ไฟฟ้าของตน โดยการผลิตไฟฟ้าในสถานที่หรือการใช้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในระดับประจำปี หมายความว่าบริษัทอาจไม่สามารถชดเชยไฟฟ้าที่ใช้ในบางเดือนได้เต็มที่ โดยจะพึ่งพาไฟฟ้าบางส่วนจากกริด แต่ถ้าบริษัทใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น หรือสามารถจัดหา REC ชดเชยในเดือนอื่นเพื่อให้แน่ใจว่าอัตราส่วนการใช้พลังงานจะมีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในแต่ละปี บริษัทก็ยังบรรลุเป้าหมายของตนได้

เป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 100% ส่วนใหญ่ไม่มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ และไม่คำนึงถึงช่วงเวลาของการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ตรงกับการใช้ไฟฟ้า โดยบริษัทที่ดำเนินการในเป้าหมายนี้มักจะซื้อพลังงานหมุนเวียนในตลาดหนึ่งเพื่อชดเชยการใช้ไฟฟ้าในอีกตลาด

ในขณะที่ 24/7 CFE บริษัทต้องชดเชยการใช้ไฟฟ้าของตนให้ครบทุกชั่วโมง โดยไม่สามารถชดเชยชั่วโมงที่พลาดไปด้วยพลังงานหมุนเวียนในชั่วโมงอื่นได้ ด้วยเหตุนี้การบรรลุเป้าหมาย 24/7 CFE จึงมีความต้องการมากกว่าพลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว โดยจะต้องการพลังงานที่ปราศจากคาร์บอนทุกชั่วโมง ซึ่งคล้ายกับพลังงาน baseload เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) และพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งผลิตพลังงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน บริษัทต่างๆ ยังต้องใช้เทคโนโลยีที่สร้างความยืดหยุ่น เช่น การเก็บพลังงาน โดยเก็บพลังงานในช่วงเวลาที่บริษัทผลิตพลังงานที่ปราศจากคาร์บอนมากกว่าที่ต้องการ และปล่อยพลังงานในช่วงเวลาที่ไม่มีพลังงานที่ปราศจากคาร์บอนเพียงพอ นอกจากนี้เป้าหมาย 24/7 CFE นั้นมีความเฉพาะเจาะจงกับตลาด ซึ่งหมายความว่าบริษัทต้องซื้อพลังงานที่ปราศจากคาร์บอนในแต่ละตลาดที่ดำเนินการอยู่เพื่อเสริมส่วนผสมที่ปราศจากคาร์บอนในกริดเหล่านั้น และจะไม่สามารถซื้อ ‘ความเขียว’ จากแหล่งไฟฟ้านอกกริดที่เชื่อมต่อกับผู้ใช้ไฟฟ้าได้

รูปที่ 4 กราฟแสดงตัวอย่างการซื้อพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (ซ้าย) และ เป้าหมายพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง (ขวา)

รูปที่ 4 กราฟแสดงตัวอย่างการซื้อพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (ซ้าย) และ เป้าหมายพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง (ขวา)

2.2 เครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง

เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง แต่ละบริษัทมีชุดเครื่องมือสำคัญ 5 ประเภทเพื่อบรรลุเป้าหมาย และมีบทบาทสำคัญในการสร้างแนวทางสำหรับองค์กรอื่นๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอนในระบบพลังงาน โดยเครื่องมือสำหรับการใช้พลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย

(1) การจัดซื้อพลังงานสะอาด (Clean Energy Procurement)

บริษัทสามารถสร้างความก้าวหน้าอย่างมากสู่การบรรลุเป้าหมาย 24/7 CFE ด้วยการซื้อไฟฟ้าสะอาด (เช่น Corporate PPA) จากพลังงานแสงอาทิตย์และลม เช่น Meta (ที่ 23.5 TWh) และ Google (ที่ 21.3 TWh) ได้ซื้อพลังงานสะอาดในปริมาณที่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนรายปีที่ตั้งไว้

(2) พลังงานคาร์บอนต่ำในระบบโครงข่าย (Carbon-Free Energy on the Grid)

บริษัทที่ดำเนินงานในพื้นที่ที่มีโครงข่ายไฟฟ้าที่มีการผลิตพลังงานคาร์บอนต่ำจะได้เปรียบในการบรรลุเป้าหมาย 24/7 CFE เช่น บริษัทในยุโรปที่ใช้โครงข่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดในอัตราสูง

(3) นโยบายและการบริหารจัดการระบบโครงข่าย (Policy and Ecosystem Management)

นโยบายที่สนับสนุน PPAs การเลือกผู้จำหน่ายไฟฟ้าปลีก และการจัดเก็บพลังงานจะช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมาย24/7 CFE ได้ง่ายขึ้น

(4) ความยืดหยุ่นด้านการใช้พลังงาน (Demand-Side Flexibility)

บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆ โดยสามารถจัดการการใช้ไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับการอัตราการผลิตพลังงานของพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวน

(5) ความยืดหยุ่นด้านการจัดหาพลังงาน (Supply-Side Flexibility)

การใช้ไฟฟ้าในช่วงที่อัตราการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขาดแคลน จำเป็นต้องพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มยืดหยุ่น เช่น การกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ หรือการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำอย่างพลังงานน้ำและนิวเคลียร์ ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่เหลือจากช่วงที่มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลมน้อย

รูปที่ 5 เครื่องมือสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย 24/7 CFE

รูปที่ 5 เครื่องมือสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย 24/7 CFE

รูปที่ 6 เกณฑ์การให้คะแนนบริษัทที่พยายามดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง

รูปที่ 6 เกณฑ์การให้คะแนนบริษัทที่พยายามดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง

2.3 อุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างผลกระทบอย่างมากของเป้าหมาย 24/7 CFE คือผลต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าในภาพรวม โดยการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานปลอดคาร์บอนในตลาด ในบริเวณที่มีความต้องการพลังงานสีเขียวสูงสุด ไม่ว่าจะผ่านการลงทุนในโครงการ การจัดซื้อพลังงาน การปรับปรุงนโยบาย หรือการพัฒนาเทคโนโลยี จึงช่วยให้บริษัทอื่น ๆ มีโอกาสใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม 24/7 CFE ยังไม่ใช่แนวทางที่ทุกองค์กรสามารถนำไปปฏิบัติได้ในปัจจุบัน เนื่องจากต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อพลังงานสะอาด ความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับผู้ให้บริการพลังงาน ความเข้าใจในตลาดพลังงาน และโครงสร้างการดำเนินงานที่เหมาะสม ซึ่งสำหรับบางองค์กร เป้าหมายนี้อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ตั้งเป้าหมายพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบัน การมุ่งสู่เป้าหมายนี้ยังไม่สมเหตุสมผลทางการลงทุนสำหรับหลายบริษัท อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวมีข้อดีที่ไม่ควรมองข้าม โดยส่งผลต่อผู้ใช้พลังงานรายอื่นได้มากกว่ากลไกจัดซื้อพลังงานสะอาดแบบดั้งเดิม เช่น PPAs แม้ว่าบริษัทในปัจจุบันอาจยังไม่พร้อมสำหรับเป้าหมาย 24/7 CFE แต่แนวทางนี้สามารถใช้เป็นตัวกำหนดนโยบายในอนาคต

นโยบายในอนาคต 2.4 ข้อดี และ ข้อจำกัดของการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง

2.4.1 ข้อดีของการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง

ลดต้นทุนเทคโนโลยีปลอดคาร์บอน แม้ว่าบริษัทส่วนใหญ่จะยังไม่มีเป้าหมายพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง แต่หลายแห่งมีเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งง่ายกว่าและช่วยลดต้นทุนผ่านการลดการใช้ไฟฟ้า การลงทุนในพลังงานสะอาด และความร่วมมือกับผู้ให้บริการพลังงาน

ลดความเสี่ยง เป้าหมาย 24/7 CFE ช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าฟอกเขียว "greenwashing" และเปิดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ เช่น หนี้ที่ยั่งยืน (sustainable debt) นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีหลากหลายช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศ เช่น การใช้แบตเตอรี่เก็บพลังงานเมื่อราคาไฟฟ้าติดลบ (เนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป) แล้วขายเมื่อราคาไฟฟ้าสูง

2.4.2 ข้อจำกัดของการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง

ค่าใช้จ่ายสูง การลงทุนในเทคโนโลยี เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน ยังมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับบริษัทส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในระดับขนาดใหญ่ อีกทั้งการสร้างพลังงานหมุนเวียนมากเกินไปเพื่อเข้าใกล้เป้าหมาย 24/7 ยังเพิ่มความเสี่ยงที่ต้องพึ่งพาปัจจัยด้านสภาพอากาศมากเกินไป

เกินความเชี่ยวชาญของบริษัท การทำความเข้าใจการใช้พลังงาน การใช้เทคโนโลยีใหม่ และการร่วมมือกับผู้ให้บริการพลังงาน เป็นเรื่องซับซ้อนสำหรับบริษัทที่มีทีมงานด้านพลังงานจำกัด อาจต้องพึ่งพาที่ปรึกษาภายนอกหรือขยายความรู้ในองค์กร ซึ่งใช้เวลาและต้นทุนสูง

อาจเป็นไปไม่ได้ สำหรับบางบริษัท การบรรลุเป้าหมาย 24/7 CFE อาจไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อจำกัดในพื้นที่ เช่น การขาดตลาดรองรับ PPAs หรือการพึ่งพาบริการจากบริษัทที่ให้บริการสาธารณูปโภคเพียงแห่งเดียว

3. สถานการณ์แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน

3.1 สถานการณ์การจัดซื้อพลังงานสะอาด

เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดที่สุดในปัจจุบันยังคงไม่ปลอดคาร์บอนในทุกชั่วโมงของวัน บริษัทจึงยังคงต้องจัดหาพลังงานสะอาดเพิ่มเติมเพื่อชดเชยชั่วโมงที่ระบบไฟฟ้าไม่สามารถผลิตพลังงานคาร์บอนต่ำได้อย่างเพียงพอ หลายบริษัทได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด 100% เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้ไฟฟ้ารายปีทั้งหมดได้รับการชดเชยด้วยพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไม่สามารถจัดหาพลังงานสะอาดของตนเองได้ เป้าหมายพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง จะเป็นสิ่งที่ยากในการบรรลุในระยะสั้น การพัฒนาความสามารถในการจัดซื้อพลังงานสะอาดจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับบริษัทที่ต้องการบรรลุเป้าหมายนี้

บริษัทที่มีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมงต่อวัน มักเป็นบริษัทที่ได้ลงทุนซื้อพลังงานสะอาดในปริมาณมากไปแล้ว ผู้นำในด้านนี้ยังรวมถึงบริษัทที่สามารถชดเชยการใช้ไฟฟ้าทั้งปีด้วยพลังงานสะอาดได้อย่างสมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม บริษัทขนาดใหญ่ที่ยังมีช่องว่างในการจัดหาพลังงานสะอาดจะต้องจัดซื้อเพิ่มเติมรองรับการเติบโตของธุรกิจเพื่อรักษาเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด 100% สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการตั้งเป้าหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและท้าทาย

ตัวอย่างของบริษัทผู้นำในด้านการจัดซื้อพลังงานสะอาดคือ Meta ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม RE100 โดยได้ซื้อพลังงานจากแหล่งแสงอาทิตย์และลมทั้งในสถานที่และนอกสถานที่ รวมถึง 23.5 TWh ซึ่งเพียงพอสำหรับการชดเชยการใช้ไฟฟ้าของบริษัทจนถึงปี 2030 บริษัทอื่นๆ ที่มีความคืบหน้าตามมา ได้แก่ General Mills, DaVita และ Colruyt โดยปัจจัยที่แยกบริษัทออกจากบริษัทที่ล้าหลังคือปริมาณพลังงานสะอาดที่ได้ซื้อไปแล้ว รวมถึงความสามารถในการจัดการช่องว่างพลังงานสะอาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

รูปที่ 7 ความคืบหน้าของการบรรลุเป้าหมาย

รูปที่ 7 ความคืบหน้าของการบรรลุเป้าหมาย

ข้อมูลจาก RE100 ที่รวบรวมโดย Bloomberg ชี้ให้เห็นว่า 84% ของสมาชิกได้รายงานการซื้อพลังงานสะอาดแล้ว แต่ยังมีอีก 68 บริษัทที่ไม่มีประวัติการซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียที่กลไกสนับสนุนการจัดซื้อพลังงานสะอาดเพิ่งเริ่มเปิดกว้างไม่นาน นอกเหนือจากกลุ่ม RE100 การซื้อพลังงานสะอาดโดยบริษัททั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2022 มีการประกาศข้อตกลงการซื้อพลังงานสะอาดสูงถึง 36 GW เพิ่มขึ้นจาก 31.1 GW ในปี 2021 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากมีการออกนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

รูปที่ 8 สรุปปริมาณการซื้อไฟฟ้าของแต่ละสมาชิกใน RE100 และ ปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อขายด้วย CPPA ในแต่ละปี

รูปที่ 8 สรุปปริมาณการซื้อไฟฟ้าของแต่ละสมาชิกใน RE100 และ ปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อขายด้วย CPPA ในแต่ละปี

บริษัทอย่าง Google และ Microsoft ที่ได้วางกลยุทธ์ชัดเจนในการใช้พลังงานปลอดคาร์บอนรายชั่วโมงได้บรรลุ หรืออยู่ในขั้นตอนการบรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาด 100% ต่อปีแล้ว โดยอาศัยข้อตกลงการซื้อขายพลังงาน (PPAs) ใบรับรองพลังงานสะอาด (Renewable Energy Certificates) และการผลิตพลังงานในสถานที่ (Onsite Generation) เป้าหมายนี้เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทในรายงานกำลังมุ่งมั่นดำเนินการ อย่างไรก็ตาม สมาชิก RE100 โดยรวมยังอยู่ห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ปัจจุบัน สมาชิก RE100 โดยเฉลี่ยชดเชยเพียง 51% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด จากข้อมูลล่าสุดในปี 2021 บริษัทสมาชิกใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 485 TWh แต่ชดเชยด้วยพลังงานสะอาดเพียง 179 TWh หรือ 42% แม้ว่าแต่ละบริษัทจะเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2030 แต่ RE100 จะสามารถชดเชยการใช้พลังงานสะอาดได้เพียง 75% เท่านั้น เนื่องจากหลายบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะใช้พลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2050

มีสมาชิก RE100 ราว 119 บริษัท หรือ 29% ที่รายงานว่าชดเชยการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดอย่างสมบูรณ์ ผู้นำในกลุ่มนี้ได้แก่ Sumitomo Forestry (168%) DaVita (144%) และ Apple (142%) ซึ่งใช้กลไกอื่นนอกเหนือจากใบรับรองพลังงานสะอาด ทำให้พร้อมสำหรับกลยุทธ์พลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกอีก 155 บริษัท หรือ 38% ที่ชดเชยการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดได้น้อยกว่า 10% โดยส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายในการดำเนินกลยุทธ์ 24/7 ในภูมิภาคนี้

รูปที่ 9 เปอร์เซ็นต์การจัดซื้อไฟฟ้าของบริษัทที่นำหน้าใน RE100

รูปที่ 9 เปอร์เซ็นต์การจัดซื้อไฟฟ้าของบริษัทที่นำหน้าใน RE100

สำหรับบางบริษัท การบรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาด 100% เป็นภารกิจที่ซับซ้อนกว่าบริษัทอื่นที่พร้อมกว่า บริษัทขนาดเล็กสามารถใช้วิธีการที่มีกลยุทธ์ เช่น การผลิตพลังงานในสถานที่ (Onsite Generation) ที่มีต้นทุนต่ำกว่า หรือการทำข้อตกลง PPA เพียงฉบับเดียว เช่น Fifth Third Bank ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ เช่น Walmart, Samsung และ Equinix แม้จะใช้พลังงานสะอาด 22%, 20% และ 66% ในปัจจุบัน แต่ยังคงต้องการพลังงานสะอาดเพิ่มเติม 19.9, 13.2 และ 12.9 TWh ตามลำดับ เพื่อบรรลุเป้าหมายพลังงานสีเขียว 100%

บริษัทที่ใกล้บรรลุเป้าหมาย 100% แล้ว จะต้องซื้อพลังงานสะอาดเพิ่มเติมเพื่อรักษาเป้าหมายนี้ในขณะที่ธุรกิจเติบโต ตัวอย่างเช่น Google แม้จะบรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาด 100% ต่อปีในปัจจุบัน ด้วยการซื้อพลังงาน 21 TWh แต่การใช้ไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นสามเท่าตั้งแต่ปี 2016 และจะต้องซื้อเพิ่มอีก 7 TWh ภายในปี 2030 เพื่อรักษาเป้าหมายนี้ Microsoft ก็เผชิญความท้าทายคล้ายกัน โดยต้องซื้อเพิ่มอีก 5.8 TWh หรือ 28% ของปริมาณที่ซื้อไปแล้ว

รูปที่ 10 ปริมาณไฟฟ้าที่ขาดอยู่เพื่อบรรลุเป้าหมายของแล่ละสมาชิก RE100

รูปที่ 10 ปริมาณไฟฟ้าที่ขาดอยู่เพื่อบรรลุเป้าหมายของแล่ละสมาชิก RE100

3.2 สถานการณ์พลังงานคาร์บอนต่ำในระบบโครงข่าย

บริษัทที่ดำเนินกิจการบนกริดไฟฟ้าที่มีพลังงานปลอดคาร์บอนสูงจะได้เปรียบมากที่สุดในกลยุทธ์พลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมงต่อวัน โดยกริดที่สะอาดสามารถช่วยให้บริษัทเข้าใกล้เป้าหมายดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อพลังงานสะอาดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ทิศทางการพัฒนาในอนาคตของแต่ละกริดก็เป็นปัจจัยสำคัญ กริดบางแห่งเพิ่มพลังงานปลอดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้บริษัทเข้าใกล้เป้าหมายได้ง่ายขึ้น ในขณะที่กริดอื่นยังคงใช้เทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ เช่น ถ่านหิน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในระยะยาว

บริษัทในยุโรปมีข้อได้เปรียบในด้านนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินงานในตลาดสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน (99%) และนอร์เวย์ (98%) ซึ่งใช้พลังงานจากแหล่งน้ำ พลังงานลม เป็นจำนวนมาก หรือตลาดยุโรปตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส (91%) ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในสัดส่วนสูง เมื่อเทียบกับตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา (38%) และจีน (32%) ที่มีพลังงานปลอดคาร์บอนต่ำกว่า โดยยังคงใช้เชื้อเพลิงถ่านในสัดส่วนสูง บริษัทขนาดเล็กในตลาดเหล่านี้อาจไม่สามารถตั้งเป้าหมาย 24/7 CFE ในระยะสั้นได้

รูปที่ 11 ความได้เปรียบในการบรรลุเป้าหมายพลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมง ของบริษัทในกลุ่ม RE100ในด้านความสะอาดของกริด

รูปที่ 11 ความได้เปรียบในการบรรลุเป้าหมายพลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมง ของบริษัทในกลุ่ม RE100ในด้านความสะอาดของกริด

กริดที่มีพลังงานปลอดคาร์บอนสูงทำให้บริษัทมีโอกาสใช้พลังงานปลอดคาร์บอนในหลายชั่วโมงของวันมากขึ้นโดยธรรมชาติ แม้จะยังไม่ได้ซื้อพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม ใน 52 ตลาดหลักที่สมาชิก RE100 มีการดำเนินงาน ค่าเฉลี่ยของพลังงานปลอดคาร์บอนในกริดอยู่ที่เพียง 50% โดยมีเพียง 11 ตลาดที่มีพลังงานปลอดคาร์บอนเกิน 80% เช่น เนปาล (99%) สวีเดน (99%) และนอร์เวย์ (98%) ในขณะที่ตลาดอย่างสิงคโปร์ (3%) อียิปต์ (11%) และแอฟริกาใต้ (12%) มีสัดส่วนพลังงานสะอาดต่ำที่สุด

สำหรับบริษัทที่ดำเนินงานในภูมิภาคอเมริกา หลายแห่งประสบปัญหาเรื่องกริดที่สกปรกกว่า ยกเว้นบางประเทศ เช่น บราซิล (86%) และโคลอมเบีย (73%) แต่ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ มีพลังงานปลอดคาร์บอนเพียง 38% ซึ่งทำให้บริษัทอย่าง Microsoft แม้จะซื้อพลังงานสะอาดจำนวนมาก แต่ยังเสียเปรียบเนื่องจากมีการดำเนินงานในสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งยังมีกริดที่ไม่สะอาด

ตัวอย่างบริษัทที่มีผลการดำเนินงานสูงในกลุ่มนี้ ได้แก่ Tetra Pak, DNB และ Elopak เนื่องจากมีฐานการดำเนินงานในตลาดที่มีพลังงานสะอาดสูง เช่น สวิตเซอร์แลนด์ (97%) และสแกนดิเนเวีย ในทางตรงกันข้าม บริษัทข้ามชาติที่มีการดำเนินงานทั่วโลกต้องพัฒนากลยุทธ์การจัดหาพลังงานสะอาดเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

รูปที่ 12 แผนภาพแสดงความได้เปรียบในด้านความสะอาดของกริด เทียบกับอัตราส่วนพลังงานหมุนเวียนที่แต่ละบริษัทจัดซื้อรายปี

รูปที่ 12 แผนภาพแสดงความได้เปรียบในด้านความสะอาดของกริด เทียบกับอัตราส่วนพลังงานหมุนเวียนที่แต่ละบริษัทจัดซื้อรายปี

จากการคาดการณ์ในอนาคต กริดในหลายพื้นที่กำลังสะอาดขึ้น จาก 52 ตลาดหลัก มี 39 ตลาดที่พลังงานปลอดคาร์บอนเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา เช่น เนเธอร์แลนด์ (เพิ่มขึ้น 34%) และไอร์แลนด์ (เพิ่มขึ้น 30%) อย่างไรก็ตาม บางตลาด เช่น สิงคโปร์ (-27%) เวียดนาม (-12%) และอินโดนีเซีย (-8%) กลับมีพลังงานสะอาดลดลง โดยบางพื้นที่เกิดจากความผันผวนชั่วคราว ขณะที่บางพื้นที่ เช่น อินโดนีเซีย กำลังขยายการใช้ถ่านหินมากขึ้น

ตัวอย่างสมาชิก RE100 ที่ได้รับประโยชน์จากกริดที่สะอาดขึ้น ได้แก่ Ikea, KPN และ KPMG ซึ่งพบว่าพลังงานปลอดคาร์บอนในตลาดหลักที่พวกเขาดำเนินงานเพิ่มขึ้น 34% ในทางตรงกันข้าม บริษัทอย่าง YCH (-37%) และ Nestle (-9%) พบว่าสัดส่วนพลังงานสะอาดลดลงในตลาดหลัก เช่น อเมริกาเหนือ และบางส่วนของยุโรปที่กริดเริ่มสกปรกขึ้น

3.3 สถานการณ์นโยบายและการบริหารจัดการระบบโครงข่าย

ความพร้อมของนโยบายคาร์บอนต่ำที่น่าสนใจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่าบริษัทจะยังคงเป็นผู้นำในการพยายามบรรลุเป้าหมายพลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมง ต่อไปหรือไม่ โดยผู้ซื้อพลังงานสะอาดชั้นนำหลายรายใช้เวลามากในบางตลาดเพื่อเปิดโอกาสในการซื้อพลังงานสะอาดผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA), ใบรับรองการเลือกซื้อพลังงานจากผู้ค้าปลีก, การทำ Net Metering/Net Billing และเงินอุดหนุนการระบบกักเก็บพลังงาน ผู้ที่ดำเนินงานในตลาดที่มีกลไกเหล่านี้พร้อมใช้งานอยู่จะมีข้อได้เปรียบในการบรรลุเป้าหมายพลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมง

รูปที่ 13 ความก้าวหน้าของบริษัทในกลุ่ม RE100 ในมิติด้านของการสนับสนุนเชิงนโยบายของโครงข่ายที่บริษัทอยู่

รูปที่ 13 ความก้าวหน้าของบริษัทในกลุ่ม RE100 ในมิติด้านของการสนับสนุนเชิงนโยบายของโครงข่ายที่บริษัทอยู่

บทบาทของ PPA ใน 24/7 CFE

แม้เป้าหมาย 24/7 CFE จะพึ่งพากลไกที่หลากหลายมากขึ้น แต่ PPA ยังคงเป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์การจัดหาพลังงานขององค์กรในอนาคต บริษัทจำนวนมากที่เป็นผู้นำในเป้าหมาย 24/7 CFE มักบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% แล้ว โดยส่วนใหญ่มาจาก PPA เพราะ PPA เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการซื้อพลังงานสะอาดจำนวนมาก ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนของระบบไฟฟ้าได้มากกว่าเครื่องมืออย่างใบรับรองพลังงานหมุนเวียนหรือข้อตกลงแบบ sleeved deals

ข้อจำกัดของ PPA ในตลาดสำคัญ

การเข้าถึง PPA ในตลาดที่สำคัญเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบริษัทที่ต้องการเปลี่ยนไปสู่พลังงานคาร์บอนฟรี 24/7 แม้ว่าตลาดใหญ่ส่วนมากจะอนุญาตให้ทำ PPA ได้ แต่บางประเทศ เช่น ตุรกี อินโดนีเซีย อียิปต์ เมียนมา และไทย อนุญาตเฉพาะ PPA ในสถานที่ (onsite PPA) เท่านั้น ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ไม่สามารถซื้อพลังงานสะอาดในปริมาณมากได้ เวียดนามยังไม่อนุญาต Corporate PPA แต่มีการเจรจาเพื่อสร้างโมเดล Corporate PPA โดยตรง (Direct PPA: DPPA) ในปี 2023

ตลาดที่ PPA นอกสถานที่ (offsite PPA) ใช้ได้ง่าย

ในอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา และยุโรป การทำ offsite PPA ทำได้ง่าย โดย 99% ของข้อตกลง PPA ของ Google, 97% ของ Meta และ 94% ของ Microsoft อยู่ในภูมิภาคเหล่านี้ บริษัทที่ดำเนินการหลักในภูมิภาคดังกล่าวมีความได้เปรียบในเป้าหมายพลังงาน 24/7 CFE

รูปที่ 14 สถานการณ์ CPPA (Corporate PPA) ในปัจจุบัน รูปที่ 14 สถานการณ์ CPPA (Corporate PPA) ในปัจจุบัน

รูปที่ 14 สถานการณ์ CPPA (Corporate PPA) ในปัจจุบัน

บทบาทของ การขายปลีกพลังงานสะอาด (Retail Choice) ใน 24/7 CFE

การขายปลีกพลังงานสะอาด (Retail Choice) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ 24/7 CFE โดยผู้ให้บริการพลังงานและผู้ค้าปลีกพลังงานใช้ความเชี่ยวชาญในการจัดการพลังงานและการเป็นเจ้าของพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่หลากหลายเพื่อเสนอพลังงานสะอาดที่ปรับแต่งให้ตรงกับโปรไฟล์การใช้ไฟฟ้าของลูกค้า โครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อตกลงพลังงานแบบพิเศษ (Sleeved Deals) และโครงการค่าไฟฟ้าสีเขียว (Green Tariffs) ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดผ่านการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้พัฒนาและลูกค้า

ในตลาดที่มีการใช้ Retail Choice อย่างเต็มรูปแบบ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และยุโรปตะวันตก องค์กรต่างๆ สามารถเลือกผู้ให้บริการพลังงานที่เหมาะสมกับเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดได้ ซึ่งช่วยให้องค์กรขนาดใหญ่ เช่น BT, Unilever และ Meta สามารถจัดหาพลังงานสะอาดได้ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคที่มีข้อจำกัด เช่น ละตินอเมริกา เอเชียส่วนใหญ่ และบางส่วนของยุโรป เช่น อิตาลีและตุรกี องค์กรที่มีการใช้พลังงานสูงในพื้นที่เหล่านี้ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการในพื้นที่ ซึ่งอาจจำกัดความสามารถในการบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาด กรณีตัวอย่างของเกาหลีใต้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการผลักดันให้เปิดตัวโครงการพลังงานสะอาด เช่น Green Tariff ในปี 2021 เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรขนาดใหญ่

รูปที่ 15 สถานการณ์ทางเลือกของการขายปลีกของพลังงานสะอาด

รูปที่ 15 สถานการณ์ทางเลือกของการขายปลีกของพลังงานสะอาด

บทบาทของ การซื้อใบรับรองพลังงานสะอาด (Clean Energy Certificates)

องค์กรจำนวนมากยังคงใช้ใบรับรองเป็นกลยุทธ์หลักในการบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาด ใบรับรองที่มีอยู่ในหลากหลายตลาด เช่น ใบรับรองพลังงานหมุนเวียนในอเมริกาเหนือ (RECs) ใบรับรองการันตีต้นกำเนิดพลังงานในยุโรป (GOs) และมาตรฐานสากล I-REC ที่ใช้ในเอเชียและละตินอเมริกา ช่วยให้องค์กรสามารถชดเชยการใช้ไฟฟ้าได้ในระดับที่กว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ใบรับรองเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดในแง่ของการส่งเสริมโครงการพลังงานสะอาดใหม่ๆ (Additionality) เนื่องจากส่วนใหญ่ใบรับรองพลังงานสีเขียวมาจากโครงการที่มีอยู่เดิม

เพื่อสนับสนุนเป้าหมายพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง มีความพยายามในการพัฒนาใบรับรองพลังงานแบบรายชั่วโมง ซึ่งระบุเวลาการผลิตและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตพลังงาน เช่น พลังงานลมที่ผลิตในเวลากลางคืน ใบรับรองประเภทนี้จะช่วยให้การใช้พลังงานสะอาดมีความสอดคล้องกับความต้องการในช่วงเวลาที่พลังงานสะอาดขาดแคลน โดยโครงการริเริ่ม EnergyTag กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาดังกล่าวเพื่อเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพของการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต

รูปที่ 16 สถานการณ์การซื้อใบรับรองพลังงานสะอาด

รูปที่ 16 สถานการณ์การซื้อใบรับรองพลังงานสะอาด

บทบาทของ Net Metering และ Net Billing

Net Metering และ Net Billing เป็นกลไกที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากการใช้ไฟฟ้าโดยการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานท้องถิ่น เช่น โซลาร์บนพื้นที่ของตนเอง แม้จะมีข้อจำกัดในขนาดการผลิตและพื้นที่ติดตั้ง แต่เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการลดการปล่อยคาร์บอน เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบพลังงานในพื้นที่ (onsite PPA) สามารถถูกใช้ภายในบริษัทหรือบ้านเรือนเพื่อลดการซื้อไฟฟ้าจากกริดที่มีราคาแพง นอกจากบริษัทขนาดเล็กแล้ว ยังมีองค์กรขนาดใหญ่ เช่น Apple (1.5TWh), Colruyt (1.1TWh), Walmart (0.5TWh) และ Ikea (0.2TWh) ที่ได้ซื้อพลังงานจากการผลิตในสถานที่จำนวนมาก

ความแตกต่างระหว่างสองระบบนี้ คือ Net Metering อนุญาตให้ผู้ผลิตใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเกินความต้องการส่งกลับเข้าระบบ และรับเครดิตไฟฟ้าในอัตราเดียวกับราคาขายปลีกไฟฟ้า ทำให้คุ้มค่าต่อผู้ผลิตรายย่อย แต่จะไม่สะท้อนต้นทุนขายปลีกไฟฟ้าของผู้ให้บริการ ขณะที่ Net Billing ผู้ผลิตจะขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนให้ผู้ให้บริการในอัตราที่กำหนด ซึ่งมักต่ำกว่าราคาขายปลีก โดยผู้ผลิตต้องจ่ายค่าไฟฟ้าตามการใช้สุทธิและรับรายได้แยกต่างหากจากการขายส่วนเกิน ความแตกต่างสำคัญจึงเป็นรูปแบบการคำนวณผลตอบแทน

รูปที่ 17 โครงสร้างของ Net Metering และ Net Billing

รูปที่ 17 โครงสร้างของ Net Metering และ Net Billing

การมีนโยบายการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบ Net Metering และ Net Billing ทั่วโลกช่วยเร่งการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ในสถานที่ ซึ่งช่วยให้พลังงานไฟฟ้าที่เกินความต้องการสามารถขายคืนให้กับบริษัทผู้ให้บริการพลังงานและได้รับเครดิตเพื่อลดค่าไฟฟ้าจากการใช้พลังงานจากเครือข่าย ในบางตลาดที่สามารถจับคู่กับการเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากเครดิตเหล่านี้ได้มากขึ้นโดยการปล่อยพลังงานเข้าสู่ระบบในช่วงเวลาที่มีราคาพลังงานสูง ซึ่งกลายเป็นแรงจูงใจทางการเงินที่มีค่ามากสำหรับบริษัทที่มุ่งสู่ 24/7 CFE

อย่างไรก็ตาม ในการใช้นโยบาย Net Metering และ Net Billing ผู้ให้บริการพลังงานมักจะจำกัดมูลค่าของเครดิต เนื่องจากราคาของพลังงานแสงอาทิตย์กำลังถูกลงและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงทำให้การนำระบบนี้มาใช้อย่างกว้างขวางในบางประเทศยังคงมีข้อจำกัด โดยจากตลาดใหญ่ที่บริษัทสมาชิก RE100 ดำเนินการอยู่ 13 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี และฝรั่งเศส ไม่มีนโยบาย Net Metering ซึ่งหมายความว่าบริษัทที่มีสถานประกอบการในประเทศเหล่านี้ เช่น BMW, Continental, Fujitsu Siemens และ Sony อาจต้องจ่ายค่าพลังงานจากโซลาร์ในสถานที่สูงขึ้นหรือต้องมองหาวิธีการจัดหาพลังงานอื่น

รูปที่ 18 สถานการณ์ Net Metering

รูปที่ 18 สถานการณ์ Net Metering

ระบบกักเก็บพลังงานเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ 24/7 CFE เนื่องจากเป็นการสร้างความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยบริษัทมักจะจับคู่ระบบกักเก็บพลังงานกับโครงการพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ห่างจากสถานที่ตั้ง (Off-site PPA เช่น Direct PPA) เพื่อช่วยจัดการกับความไม่เสถียรของพลังงานและป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาไฟฟ้าในตลาด รวมถึงมีการจับคู่การเก็บพลังงานกับโซลาร์ในสถานที่ เพื่อใช้ประโยชน์จากเครดิตจากการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบ Net Metering และ Net Billing ในช่วงเวลาที่ความต้องการพลังงานสูงและราคาไฟฟ้าปลีกสูง บริษัทยังสามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานที่แยกต่างหากเป็นเครื่องปั่นไฟสำรองสำหรับอุปกรณ์ที่ต้องการพลังงานที่เชื่อถือได้ เช่น ศูนย์ข้อมูล

แม้ว่าจะมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ลงทุนในระบบกักเก็บพลังงานหรือได้ลงนามในสัญญาซื้อพลังงาน (PPA) สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน แต่คาดว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น Meta เป็นบริษัทที่ลงทุนมากที่สุด โดยมีการจัดตั้งระบบกักเก็บพลังงานรวม 720MW รวมถึงการเซ็นสัญญาพลังงานสีเขียว 50MW ในรัฐนิวเม็กซิโก และ 130MW ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา Korea Zinc ก็ลงทุนในระบบเก็บพลังงาน 150MW ร่วมกับ Hyundai Electric ในเกาหลีใต้ Starbucks ประกาศ PPA สำหรับโซลาร์ที่จับคู่กับระบบเก็บพลังงาน 5.5MW ซึ่งให้ตัวเลือกในการปล่อยพลังงานกลับสู่ตลาดในช่วงที่ราคาพลังงานสูง

การที่บริษัทจะสามารถบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันจำเป็นต้องมีการเก็บพลังงานมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับการเก็บพลังงานยังค่อนข้างสูง โดยต้นทุนเฉลี่ยของพลังงานจากการเก็บพลังงานอยู่ที่ 182 ดอลลาร์ต่อ MWh ในครึ่งปีหลังของปี 2022 ในขณะที่พลังงานลมจากพื้นดินมีต้นทุนเฉลี่ยที่ 43 ดอลลาร์ต่อ MWh และโซลาร์มีต้นทุนที่ 45 ดอลลาร์ต่อ MWh ดังนั้นการสนับสนุนจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญในการลดต้นทุนและทำให้การเก็บพลังงานมีความสามารถในการแข่งขัน

การสนับสนุนด้านการเก็บพลังงานมีความแตกต่างกันทั่วโลก โดยครึ่งหนึ่งของตลาดหลักที่บริษัทสมาชิก RE100 ดำเนินการอยู่ไม่ได้มีการสนับสนุนที่ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่พบในละตินอเมริกาและเอเชีย บริษัทที่ดำเนินงานในตลาดเหล่านี้จะมีความยากลำบากในการจัดหาระบบกักเก็บพลังงานในราคาที่แข่งขันได้ ส่วนในสหรัฐอเมริกา การสนับสนุนมีลักษณะเฉพาะในแต่ละรัฐ ถึงแม้ว่ากฎหมายการลดภาษี Inflation Reduction Act (IRA) จะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก ในยุโรปส่วนใหญ่มีการสนับสนุนจากรัฐ ยกเว้นในนอร์เวย์และสหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้บริษัทในยุโรปสามารถจัดหาการเก็บพลังงานได้ง่ายขึ้น

รูปที่ 19 สถานการณ์การสนับสนุนระบบการกักเก็บพลังงาน

รูปที่ 19 สถานการณ์การสนับสนุนระบบการกักเก็บพลังงาน

3.4 สถานการณ์การปรับเปลี่ยนความต้องการพลังงาน (Demand Flexibility)

การปรับเปลี่ยนความต้องการพลังงาน (Demand Flexibility) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมปริมาณและเวลาการใช้ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ลดความจำเป็นในการลงทุนในเครื่องมืออื่นๆ ในการพยายามบรรลุเป้าหมาย 24/7 CFE โดยการปรับเปลี่ยนความต้องการพลังงานถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการทำให้การบรรลุเป้าหมายนี้มีความคุ้มค่าในทางการเงิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งกับบริษัทที่ตั้งเป้าหมาย 24/7 CFE และบริษัทที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายดังกล่าว

บริษัทสามารถทำให้การใช้พลังงานของตนมีความยืดหยุ่นได้โดยการจับคู่กับการผลิตพลังงานสะอาด เช่น การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ที่ Peak ในช่วงกลางวัน โดยบริษัทที่ใช้พลังงานส่วนใหญ่ในช่วงกลางวัน เช่น ธนาคาร ก็สามารถเลือกซื้อพลังงานโซลาร์เพื่อให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมงมากขึ้น ในขณะที่บริษัทที่มีศูนย์ข้อมูลซึ่งต้องการไฟฟ้าที่มีความเสถียรตลอดทั้งวัน อาจเลือกซื้อพลังงานลมที่มีความเสถียรกว่าโซลาร์ เพื่อจับคู่กับการใช้ไฟฟ้าของตน การใช้พอร์ตโฟลิโอที่ผสมผสานทั้งสองประเภทนี้จะมีผลกระทบที่ดีในการให้พลังงานสอดคล้องกับความต้องการของบริษัทตลอดทั้งวัน

นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถลดหรือปรับการใช้ไฟฟ้าของตนในแต่ละชั่วโมงได้ผ่านการใช้เทคนิคประสิทธิภาพพลังงานต่างๆ ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการติดตั้งหลอดไฟที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือการใช้เครื่องมือสมาร์ทมิเตอร์ที่สามารถรายงานข้อมูลการใช้พลังงานที่มีความละเอียดตรงไปยังผู้ให้บริการไฟฟ้า เพื่อปรับการใช้ไฟฟ้าให้ตรงตามเวลาที่เหมาะสม หรือบริษัทสามารถเข้าร่วมในโปรแกรมการตอบสนองความต้องการพลังงาน (Demand Response) กับผู้ให้บริการไฟฟ้าเพื่อช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในบางช่วงเวลาเพื่อช่วยลดภาระให้กับกริดและรับเครดิตเป็นการตอบแทน

บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Meta, Microsoft, Google และ Apple มีผลงานดีในด้านการปรับความต้องการพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้ผ่านการจัดซื้อพลังงานสะอาดในปริมาณมาก และพัฒนาโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานภายในองค์กร

รูปที่ 20 ความก้าวหน้าของบริษัทในกลุ่ม RE100 ในด้านของการปรับเปลี่ยนความต้องการพลังงาน

รูปที่ 20 ความก้าวหน้าของบริษัทในกลุ่ม RE100 ในด้านของการปรับเปลี่ยนความต้องการพลังงาน

การจับคู่การผลิตพลังงานกับโปรไฟล์ความต้องการพลังงาน

การจับคู่การผลิตพลังงานกับโปรไฟล์ความต้องการพลังงาน ของบริษัทก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการลดการซื้อพลังงานสะอาดเพิ่มเติมในอนาคต โดยบางบริษัทมีการจับคู่การผลิตพลังงานสะอาดที่เข้ากับโปรไฟล์การใช้พลังงานของบริษัทตลอดทั้งวัน ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการซื้อพลังงานสะอาดหรือพลังงานคาร์บอนต่ำในอนาคต เช่น บริษัทที่ใช้พลังงานส่วนใหญ่ในช่วงกลางวันสามารถซื้อพลังงานโซลาร์ ซึ่งมีการผลิตมากในช่วงเวลาดังกล่าว โดยบริษัทที่ใช้พลังงานมากในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูงอย่างศูนย์ข้อมูลสามารถซื้อพลังงานลมที่มีความเสถียรตลอดทั้งปี

โดยจากข้อมูลการซื้อพลังงานสะอาดของบริษัท RE100 พบว่า Meta สามารถลดการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำได้ถึง 86% ของความต้องการพลังงานรายชั่วโมงตลอดทั้งปี รองลงมาคือ Microsoft (82%), Google (78%) และ Ecolab (73%) ส่วนบริษัทที่พึ่งพาโซลาร์มากกว่ามักจะใกล้เคียงกับเป้าหมาย 24/7 มากขึ้นในฤดูร้อน ส่วนบริษัทที่ใช้พลังงานลมจะใกล้เคียงในฤดูหนาว

รูปที่ 21 การจับคู่ระหว่างความต้องการพลังงาน และ แหล่งพลังงานหมุนเวียน

รูปที่ 21 การจับคู่ระหว่างความต้องการพลังงาน และ แหล่งพลังงานหมุนเวียน

โปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency Program)

โปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency Program) ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้มานานและแพร่หลายที่สุดในการลดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถลดการใช้พลังงานลงทั้งในระดับรายชั่วโมงและรายปีได้ โดยการใช้เทคโนโลยีที่ใช้พลังงานน้อยลงหรือการเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลังงาน บริษัทที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานพบว่า 76% ของสมาชิก RE100 ได้ดำเนินการโปรแกรมนี้ ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2015 ที่มีเพียง 67% ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การใช้หลอดไฟที่ประหยัดพลังงาน และติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดการใช้พลังงานที่มีความแม่นยำมากขึ้น เช่น สมาร์ทมิเตอร์

รูปที่ 22 จำนวนบริษัทที่มีนโยบายทำโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน

รูปที่ 22 จำนวนบริษัทที่มีนโยบายทำโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน

3.5 สถานการณ์การสร้างความยืดหยุ่นให้กับแหล่งพลังงาน (Supply Flexibility)

Supply Flexibility หมายถึงความสามารถของแหล่งพลังงานในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการที่คาดการณ์ได้หรือไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัทในการทำให้การบริโภคพลังงานสอดคล้องกับการใช้พลังงานปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าบริษัทไม่ได้มีความยืดหยุ่นในด้านการจัดหาพลังงาน จะต้องลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาดที่มากเกินไปเพื่อให้สามารถผลิตพลังงานในช่วงที่ลมไม่พัดหรือแสงอาทิตย์ไม่ส่อง เพื่อบรรลุเป้าหมาย 24/7 CFE ในการเสริมกำลังพลังงานสะอาด หลายบริษัทกำลังมองหาแหล่งพลังงานที่ใช้เทคโนโลยีต่อไปนี้

  • Flexible Capacity เช่น การกักเก็บพลังงาน (Energy Storage)
  • Firm, Carbon-Free Energy เช่น พลังงานน้ำ, นิวเคลียร์, พลังงาน

ความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) และไฮโดรเจน การมีพอร์ตโฟลิโอที่หลากหลายของเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นสูง เพื่อการตอบสนองต่อความต้องการพลังงานที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

รูปที่ 23 ความสอดคล้องระหว่างแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ และปริมาณการใช้ไฟฟ้า

รูปที่ 23 ความสอดคล้องระหว่างแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ และปริมาณการใช้ไฟฟ้า

การใช้แหล่งพลังงานที่ยืดหยุ่น เช่น แบตเตอรี่ (Energy Storage) เป็นแหล่งที่นิยมมากที่สุดในการเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด บริษัทที่มีอัตราส่วนการกักเก็บพลังงานต่อพลังงานสะอาดสูงสามารถเก็บพลังงานส่วนเกินจากโครงการพลังงานสะอาดและปล่อยพลังงานในช่วงที่มีการผลิตพลังงานสะอาดน้อย รวมถึงสามารถให้บริการการปรับสมดุลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

การใช้เทคโนโลยีพลังงานปลอดคาร์บอนที่เสถียร (Firm, Carbon-Free Energy) ได้แก่ พลังงานน้ำ, พลังงานชีวมวล, นิวเคลียร์, พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) และไฮโดรเจน โดยเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเปิดใช้งานได้เมื่อใดก็ตามที่ต้องการและทำงานต่อเนื่องได้หลายวันหรือหลายสัปดาห์ ซึ่งช่วยทำให้การผลิตพลังงานจากพลังงานสะอาดมีความเสถียรในระยะยาว

บริษัทเช่น Google, Microsoft และ Meta เป็นผู้นำในการจัดหาพลังงานจากเทคโนโลยีที่ใช้ต่อไปนี้ โดยทั้งในด้านปริมาณและความหลากหลายในการซื้อพลังงานคาร์บอนฟรีที่ปฏิบัติได้เพื่อเสริมการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาด

รูปที่ 24 ความก้าวหน้าของบริษัทในกลุ่ม RE100 ในด้านของการสร้างความยืดหยุ่นให้กับแหล่งพลังงาน

รูปที่ 24 ความก้าวหน้าของบริษัทในกลุ่ม RE100 ในด้านของการสร้างความยืดหยุ่นให้กับแหล่งพลังงาน

การจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่ปราศจากคาร์บอนในยุคใหม่ (Next-Generation Carbon-Free Electricity Procurement)

การจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่ปราศจากคาร์บอนในยุคใหม่ ได้แก่อุปกรณ์พลังงานปลอดคาร์บอนที่สามารถให้พลังงานได้ตลอดทั้งวันโดยไม่มีปัญหาความไม่เสถียร เช่น ไฮโดรเจน, พลังงานความร้อนใต้พิภพ, นิวเคลียร์, พลังงานน้ำ ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาแพงมาก ทำให้เป้าหมาย 24/7 ยังไม่สามารถบรรลุได้สำหรับบริษัทที่มีงบประมาณจำกัด โดยบริษัทที่มีพอร์ตโฟลิโอที่หลากหลายของเทคโนโลยีเหล่านี้ (เช่น การเก็บพลังงาน, พลังงานน้ำ, และไฮโดรเจน) จะมีความพร้อมในการจัดหาพลังงานที่มีความยืดหยุ่นสูงสุด การจัดหาพลังงานจากพลังงานน้ำ ถือเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่บริษัท RE100 โดยเฉพาะในยุโรป โดยบริษัทที่มีการจัดหาพลังงานน้ำได้แก่ Nestlé และ Walmart

รูปที่ 25 บริษัทกลุ่ม RE100 ที่ใช้การจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่ปราศจากคาร์บอนในยุคใหม่

รูปที่ 25 บริษัทกลุ่ม RE100 ที่ใช้การจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่ปราศจากคาร์บอนในยุคใหม่

อัตราส่วนการจัดเก็บพลังงานต่อพลังงานสะอาด

ในแง่ของ อัตราส่วนการจัดเก็บพลังงานต่อพลังงานสะอาด บริษัทเช่น Meta มีอัตราส่วนสูงสุด (6.6%) โดยมีพอร์ตโฟลิโอการจัดเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 720 MW และช่วยจัดตั้ง Energy Storage Solutions Consortium เพื่อพัฒนาแนวทางในการวัดผลกระทบจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดเก็บพลังงาน ในขณะที่ Google มีอัตราส่วน 3.4% และได้เข้าร่วมใน Long Duration Storage (LDES) Council ในปี 2022

รูปที่ 26 บริษัทกลุ่ม RE100 ที่มีความคืบหน้าในอัตราส่วนการกักเก็บพลังงานต่อพลังงานสะอาด

รูปที่ 26 บริษัทกลุ่ม RE100 ที่มีความคืบหน้าในอัตราส่วนการกักเก็บพลังงานต่อพลังงานสะอาด

อัตราส่วนของพลังงานปลอดคาร์บอนที่เสถียรต่อพลังงานสะอาด

อัตราส่วนของพลังงานคาร์บอนฟรีที่เสถียรต่อพลังงานสะอาด ยังช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมาย 24/7 ได้ โดยมีตัวอย่างบริษัทที่มีการใช้พลังงานน้ำอย่าง Daiichi Sankyo ที่มีอัตราส่วนสูงสุดถึง 95.8% ซึ่งได้ใช้พลังงานน้ำกว่า 75% ของความต้องการพลังงานทั้งหมด

รูปที่ 27 บริษัทกลุ่ม RE100 ที่มีความคืบหน้าในอัตราส่วนของพลังงานปลอดคาร์บอนที่เสถียร ต่อพลังงานสะอาด

รูปที่ 27 บริษัทกลุ่ม RE100 ที่มีความคืบหน้าในอัตราส่วนของพลังงานปลอดคาร์บอนที่เสถียร ต่อพลังงานสะอาด

รูปที่ 28 ความก้าวหน้าของบริษัทกลุ่ม RE100 ในการบรรลุเป้าหมายพลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมง

รูปที่ 28 ความก้าวหน้าของบริษัทกลุ่ม RE100 ในการบรรลุเป้าหมายพลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมง

รูปที่ 29 ความพร้อมของบริษัทกลุ่ม RE100 ในการบรรลุเป้าหมายพลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมง

รูปที่ 29 ความพร้อมของบริษัทกลุ่ม RE100 ในการบรรลุเป้าหมายพลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมง

4. ตัวอย่างสถานการณ์พลังงานปัจจุบัน และ ความคืบหน้าสู่เป้าหมายพลังงานปลอดคาร์บอน 24 ชั่วโมงในประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิค

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากตลาดพลังงานในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นสองเท่าใน 30 ปีที่ผ่านมา โดยเวียดนามมีอัตราการปล่อยก๊าซสูงสุด และประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ลดลงต่ำกว่าระดับในปี 1990 ในปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าของสมาชิก RE100 อยู่ที่ 574 TWh โดยใช้พลังงานสะอาด 321 TWh (56%) และคาดว่าในปี 2030 สมาชิก RE100 จะต้องการพลังงานสะอาดเพิ่มอีก 296 TWh โดยเอเชียแปซิฟิกจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการไฟฟ้าสะอาดในอนาคตมากที่สุด คิดเป็น 43% ของการใช้ไฟฟ้าระหว่างปี 2024-2030

ในกลุ่มตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศอินเดียมีตลาด Corporate PPA (ข้อตกลงการซื้อพลังงานสะอาด) ที่ใหญ่ที่สุดและพัฒนาที่สุด เนื่องจากทั้งความพร้อมของพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นและตัวเลือกในการจัดหาพลังงานสะอาดสำหรับบริษัทในบางรัฐ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็มีการเติบโตของตลาด Corporate PPA เช่นกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการปฏิรูปตลาดพลังงานล่าสุดที่เปิดโอกาสให้มีตัวเลือกอื่นในการจัดหาพลังงานสะอาด

ในกลุ่มตลาดทั้งสามแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาอย่างมากทั้งในด้านการเพิ่มการจัดหาพลังงานหมุนเวียนและตัวเลือกในการจัดหาพลังงานสะอาด ส่วนประเทศเวียดนามได้อนุมัติระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรง (Direct PPA: DPPA) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้งานขนาดใหญ่สามารถซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนโดยตรงผ่านกริดไฟฟ้าภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตามนโยบายและข้อกำหนดทางการตลาดที่มีอยู่ยังเป็นอุปสรรคที่จำกัดการเข้าถึงพลังงานสะอาดที่มีราคาย่อมเยาและขัดขวางการขยายตัวของการจัดหาพลังงานหมุนเวียน ตลาดค้าปลีกไฟฟ้าในตลาดส่วนใหญ่ยังไม่ได้เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเต็มที่ ซึ่งจำกัดตัวเลือกในการจัดหาพลังงานสำหรับบริษัท ในตลาดเช่น ประเทศเกาหลีใต้และประเทศมาเลเซียได้กำหนดค่าบริการการส่งผ่านไฟฟ้าสำหรับ PPA ของบริษัทในระดับสูง ขณะที่ค่าบริการส่งผ่านไฟฟ้าของประเทศเวียดนามที่เสนออาจทำให้ Corporate PPA มีความคุ้มค่าน้อย ข้อกำหนดสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนในตลาดบางแห่ง เช่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ ทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงขึ้น โดยรวมแล้ว การจัดหาพลังงานหมุนเวียนในตลาดเหล่านี้ยังคงจำกัด

โดยแม้จะมีอุปสรรคในการจัดหาพลังงานสะอาดในตลาดเหล่านี้ แต่มีบริษัทท้องถิ่นจำนวน 17 แห่งในหลายประเทศที่ลงนามในข้อตกลงการใช้พลังงานปลอดคาร์บอน 24/7 ของสหประชาชาติ (UN-backed Carbon-free Energy Compact) เช่น Greenko ในประเทศอินเดีย, Jera ในประเทศญี่ปุ่น, KHNP ในประเทศเกาหลีใต้ และ EGAT ในประเทศไทย เป็นตัวอย่างผู้เล่นสำคัญ

Bloomberg ใช้โมเดล NEO NZS (New Energy Outlook Net Zero Scenario) เพื่อเสนอแนวทางพัฒนาพลังงานคาร์บอนต่ำในกลุ่มประเทศตัวอย่าง โดยคาดว่าตลาดจะใช้ไฟฟ้าหมุนเวียน 70% ของการใช้ไฟฟ้ารวมในปี 2050 ตัวอย่างแนวทางการส่งเสริม 24/7 CFE ใน 3 ประเทศได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย

4.1 แนวทางการส่งเสริม 24/7 CFE ในญี่ปุ่น

ในปี 2023 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของญี่ปุ่นมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าถึง 68% ขณะที่พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนเพียง 24% ตามโมเดล NEO NZS การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนใหม่ 175 GW (แบ่งเป็น 131 GW จากพลังงานแสงอาทิตย์, 32 GW จากพลังงานลม) และการจัดเก็บพลังงานอีก 27 GW ในช่วงปี 2024-2030 จะช่วยให้ญี่ปุ่นเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าประจำปีเป็น 49% ภายในปี 2030 พร้อมรองรับการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้า

โมเดล NEO NZS คาดการณ์ว่า การขยายพลังงานหมุนเวียนและความสามารถในการจัดเก็บพลังงานอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้พลังงานหมุนเวียนสามารถผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 69% ของการผลิตไฟฟ้าประจำปีในปี 2040 และเพิ่มขึ้นเป็น 82% ในปี 2050

ญี่ปุ่นยังเผชิญกับความท้าทายเฉพาะตัวในฐานะประเทศเดียวที่มีระบบไฟฟ้าสองความถี่ (50 Hz ในภาคตะวันออก และ 60 Hz ในภาคตะวันตก) ความสามารถของตัวแปลงความถี่ที่จำกัดในปัจจุบันที่ 1.2 GW และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 GW ภายในปี 2027 ทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่สามารถถ่ายโอนระหว่างระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกและตะวันตกมีข้อจำกัด เพื่อรองรับปัญหานี้ การวิเคราะห์ในโมเดล NEO NZS ได้ทำการแยกแบบจำลองระบบไฟฟ้าสองระบบออกจากกันเพื่อสะท้อนข้อจำกัดทางเทคนิคดังกล่าว

รูปที่ 30 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าเขียวต่อความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในกริดญี่ปุ่น ตะวันออก

รูปที่ 30 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าเขียวต่อความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในกริดญี่ปุ่น ตะวันออก

รูปที่ 31 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าเขียวต่อความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในกริดญี่ปุ่น ตะวันตก

รูปที่ 31 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าเขียวต่อความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในกริดญี่ปุ่น ตะวันตก

ในขณะที่ศูนย์กลางความต้องการไฟฟ้าในปัจจุบัน เช่น ภูมิภาคคันโต (โตเกียวและบริเวณใกล้เคียง) ภูมิภาคคันไซ (โอซาก้าและบริเวณใกล้เคียง) และในระดับที่น้อยกว่าคือภูมิภาคโทไค (นาโกย่าและบริเวณใกล้เคียง) องค์กรที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา อาจต้องพิจารณาการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคอื่น หรือพิจารณาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำที่สามารถจ่ายไฟได้ตามความต้องการ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นถูกครอบงำโดยพลังงานแสงอาทิตย์ หากญี่ปุ่นต้องการลดคาร์บอนในภาคพลังงานให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องทำการขยายกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ต่อไป ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังต้องเร่งการเพิ่มพลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และระบบจัดเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่

รูปที่ 32 ปริมาณพลังงานหมุนเวียนในระบบตามโมเดล NEO NZS

รูปที่ 32 ปริมาณพลังงานหมุนเวียนในระบบตามโมเดล NEO NZS

ภายในปี 2030 ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมบนบก (onshore wind) ให้ได้ 4 เท่า และพลังงานลมนอกชายฝั่ง (offshore wind) ให้ได้ 48 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2023 นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มความจุของระบบจัดเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่เกือบ 9 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2023

ภายในปี 2050 แม้ว่าตามโมเดล NEO NZS พลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (utility-scale solar) จะครองสัดส่วนสูงสุดของกำลังการผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น แต่พลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่งจะมีส่วนช่วยในการผลิตไฟฟ้าประจำปีมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยความสามารถในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง (Capacity Factor) ที่สูงกว่า การผลิตไฟฟ้าของพลังงานลมนอกชายฝั่งที่สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับองค์กรที่มุ่งมั่นในการจัดหาพลังงานคาร์บอนฟรี 24/7

หากญี่ปุ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ในการสร้างระบบเชื่อมโยงไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย ประเทศจะต้องเร่งการพัฒนาความสามารถในการผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำที่สามารถจ่ายไฟได้ตามความต้องการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนตามโมเดล NEO Net Zero Scenario

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงล่าสุดในตลาดประมูลความสามารถด้านพลังงานที่ดำเนินการโดยองค์กรจัดประสานงานระบบไฟฟ้าระหว่างภูมิภาคของญี่ปุ่น (Organization for Cross-Regional Coordination of Transmission Operators: OCCTO) จะเริ่มสนับสนุนการพัฒนาความสามารถในการผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ แต่ขอบเขตของเทคโนโลยีที่รองรับยังไม่ชัดเจน รวมถึงยังมีการสนับสนุนแหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอน

ตามโมเดล NEO NZS ญี่ปุ่นจะต้องทำการลงทุน 383 พันล้านดอลลาร์ สำหรับพลังงานสะอาดและ 156 พันล้านดอลลาร์ สำหรับการขยายโครงข่ายไฟฟ้าตลอดทศวรรษนี้ การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนของญี่ปุ่นลดลงตั้งแต่ปี 2014 หลังจากการเปลี่ยนแปลงในโปรแกรม Feed-in Tariff (FiT) และการเปิดประมูลแข่งขัน แม้ว่ามีการปฏิรูปตลาดไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แต่การเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าและค่าธรรมเนียมที่สูงยังคงขัดขวางการเติบโต ญี่ปุ่นต้องดำเนินการปฏิรูปเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดการลงทุนในพลังงานสะอาดและขยายโครงข่ายไฟฟ้า

4.2 แนวทางการส่งเสริม 24/7 CFE ในเวียดนาม

เวียดนามกำลังปรับนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลเตรียมอัปเดตราคาพลังงานลมใหม่เพื่อกระตุ้นการลงทุนในโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง แม้การถอนตัวของ Equinor จะกระทบเป้าหมายบางส่วน ขณะเดียวกัน นโยบายการสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์ถูกปรับให้เข้มงวดขึ้น เพื่อลดการเติบโตที่ไม่สมดุลและควบคุมความเสี่ยง

รูปที่ 33 ราคาของพลังงานลมตามสัญญาใหม่และเดิมในเวียดนาม

รูปที่ 33 ราคาของพลังงานลมตามสัญญาใหม่และเดิมในเวียดนาม

รูปที่ 34 เพดานของสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โครงการสามารถส่งให้กริด

รูปที่ 34 เพดานของสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โครงการสามารถส่งให้กริด

ภูมิภาคตอนเหนือของเวียดนามถูกสำรวจว่าเหมาะสมสำหรับโครงการโซลาร์รูฟขนาดใหญ่ ขณะที่โครงการสถานี LNG เริ่มลงนามในข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า แม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงในด้านการพัฒนาระยะยาว เวียดนามยังปรับนโยบายเพื่อกระตุ้นความต้องการพลังงานสะอาด

รูปที่ 35 แผนการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนของเวียดนามในแต่ละภูมิภาค

รูปที่ 35 แผนการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนของเวียดนามในแต่ละภูมิภาค

ในปี 2023 โรงไฟฟ้าพลังความร้อน (thermal power plants) จัดหาไฟฟ้าถึง 53% ของพลังงานไฟฟ้าของเวียดนาม ส่วนที่เหลือมาจากพลังงานหมุนเวียน เวียดนามเป็นผู้นำในด้านสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในหมู่ตลาดที่ครอบคลุมในรายงานนี้ ภายใต้โมเดล NEO NZS โดยการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนใหม่ 112GW ซึ่งประกอบด้วย 76GW จากพลังงานแสงอาทิตย์, 22GW จากพลังงานลม และ 19GW จากระบบกักเก็บพลังงานในช่วงปี 2024-2030 เวียดนามจะสามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการจัดหาไฟฟ้าประจำปีเป็น 69% ภายในปี 2030 และรองรับการเติบโตของความต้องการไฟฟ้า

รูปที่ 36 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าเขียวต่อความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในกริดเวียดนาม

รูปที่ 36 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าเขียวต่อความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในกริดเวียดนาม

การขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงานจะช่วยให้สามารถจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ 84% ของการผลิตไฟฟ้าประจำปีในช่วงต้นทศวรรษ 2040

รูปที่ 37 ปริมาณพลังงานหมุนเวียนในระบบตามโมเดล NEO NZS

รูปที่ 37 ปริมาณพลังงานหมุนเวียนในระบบตามโมเดล NEO NZS

ในช่วงที่เหลือของทศวรรษนี้ เวียดนามจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 3.3 เท่า ความแตกต่างที่ใหญ่ที่สุดระหว่างกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2030 ตามโมเดล NEO NZS และแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าฉบับที่ 8 (PDP VIII) คือในภาคพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตแสงอาทิตย์ใน NEO NZS (97GW) จะสูงกว่าคาดการณ์ใน PDP VIII ถึง 3.7 เท่า ซึ่ง PDP VIII คาดว่าจะเติบโตเพียง 32% ในภาคพลังงานแสงอาทิตย์ เวียดนามจะต้องเริ่มต้นการใช้แบตเตอรี่ PDP VIII ตั้งเป้าหมายสำหรับแบตเตอรี่ในปี 2030 ไว้ที่เพียง 300MW ขณะที่ NEO NZS ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 17.4GW

ในปี 2023 สัดส่วนความต้องการไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามอยู่ในช่วง 21% ถึง 93% โดยมีการกระจายทางภูมิศาสตร์ที่กว้าง โดยภาคใต้และกลางของเวียดนามมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนสูงและความต้องการไฟฟ้าต่ำ ส่วนภาคเหนือมีแนวโน้มตรงกันข้าม ภายใต้ NEO NZS สัดส่วนนี้จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และเฉลี่ยถึง 80% ในช่วงปลายทศวรรษ 2030 ความต้องการไฟฟ้าตามช่วงเวลาส่วนใหญ่จะได้รับการจัดหาโดยพลังงานหมุนเวียน

เวียดนามจะต้องการการลงทุน 171 พันล้านดอลลาร์ สำหรับพลังงานสะอาดและ 53 พันล้านดอลลาร์ สำหรับการขยายโครงข่ายไฟฟ้าตลอดทศวรรษนี้ ในช่วงปี 2018-2020 เวียดนามประสบกับการเติบโตของการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่รวดเร็วจากโปรแกรม Feed-in Tariff หลังจากโปรแกรม Feed-in Tariff หมดอายุ การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนลดลง การลงทุนจะเริ่มเติบโตอีกครั้งในปีหน้า หากเวียดนามสามารถดำเนินการตามโครงการซื้อขายไฟฟ้าตรง (Direct Power Purchase Agreement) ที่ล่าช้าได้สำเร็จ

เวียดนามเป็นฐานการผลิตของบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วม RE100 มากขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนบริษัทเวียดนามที่เข้าร่วมโครงการ Science Based Targets initiative (SBTi) ก็เพิ่มขึ้นจาก 1 รายในปี 2021 เป็น 29 รายในเดือนพฤศจิกายน 2024 การเปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านี้จัดหาพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง (24/7 CFE) จะเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดการลงทุนที่เวียดนามต้องการสำหรับการพัฒนาพลังงานสะอาดและขยายโครงข่ายไฟฟ้า

4.3 แนวทางการส่งเสริม 24/7 CFE ในไทย

ประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งขับเคลื่อนโดยความต้องการภายในประเทศและความพยายามบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน โดยในปี 2023 ที่ผ่านมามีความก้าวหน้าดังนี้

โซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar)

รัฐบาลไทยกำลังเร่งพัฒนาโครงการโซลาร์ลอยน้ำ โดยมุ่งเน้นที่การติดตั้งในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ โดยจะมีพอร์ตโฟลิโอของพลังงานจากโซลาร์ลอยน้ำสูงถึง 2.7 GW ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านที่ดิน

รูปที่ 38 การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำที่มีแผนเริ่มการผลิตภายในปี 2030

รูปที่ 38 การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำที่มีแผนเริ่มการผลิตภายในปี 2030

บทบาทของกลุ่มธุรกิจใหญ่ในพลังงานสะอาด

เอสซีจี (Siam Cement PCL) มุ่งขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยแผนลงทุน 5 ปี มูลค่า 200,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าสีเขียว (green PPA) เป็น 3.5 GW ภายในปี 2573 ซึ่งมากกว่าปี 2566 ถึง 7 เท่า โดยบริษัทในเครือ SCG Cleanergy ได้พัฒนาโครงการโซลาร์ทั้งบนหลังคาและภาคพื้นดินรวม 0.5 GW และชนะประมูลโครงการโซลาร์ 0.3 GW เพื่อขายไฟฟ้าสู่ระบบในไทย ขณะเดียวกัน ประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนามและสิงคโปร์ กำลังสนับสนุนการลงทุนพลังงานสะอาดผ่านนโยบายใหม่ ทำให้การเติบโตในภาคพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคมีแนวโน้มสดใส

รูปที่ 39 การติดตั้ง Solar และ Solar PPA ของบริษัทเอสซีจี

รูปที่ 39 การติดตั้ง Solar และ Solar PPA ของบริษัทเอสซีจี

สำรวจทางเลือกการเงินใหม่จากการลดลงของพันธบัตรสีเขียว

การออกพันธบัตรสีเขียวในประเทศไทยลดลงในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการสำรวจทางเลือกในการจัดหาเงินทุนใหม่ เช่น สินเชื่อธนาคาร, เงินกู้จากภาคเอกชน และการระดมทุนผ่านหุ้นทุน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้สนับสนุนการลงทุนในกองทุน ESG (Environment Social and Governance หรือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) โดยการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีและลดระยะเวลาล็อกอินให้สั้นลงตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2567

ในปี 2023 โรงไฟฟ้าพลังความร้อน (thermal power plants) ผลิตไฟฟ้าถึง 80% ของพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ส่วนที่เหลือมาจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้โมเดล NEO NZS โดยการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนใหม่ 55GW ซึ่งประกอบด้วย 36GW จากพลังงานแสงอาทิตย์, 12GW จากพลังงานลม และ 9GW จากระบบเก็บพลังงานในช่วงปี 2024-2030 ประเทศไทยจะสามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการจัดหาไฟฟ้าประจำปีเป็น 58% ภายในปี 2030 และรองรับการเติบโตของความต้องการไฟฟ้า

การขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงานจะช่วยให้พลังงานหมุนเวียนสามารถจัดหาไฟฟ้าได้ 77% ของการผลิตไฟฟ้าประจำปีในปี 2040 ส่วนสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าประจำปีหลังจากนั้นจะคงที่ เนื่องจากการเติบโตของกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพียงพอแค่รองรับการเติบโตของความต้องการไฟฟ้า

ในปี 2023 สัดส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้ารายชั่วโมงที่ได้รับจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยอยู่ในช่วง 3% ถึง 25% ภายใต้โมเดล NEO NZS สัดส่วนนี้จะต้องเพิ่มขึ้น และเฉลี่ยถึง 77% ภายในปี 2050 ภายในกลางทศวรรษที่ 2030 โดยความต้องการใช้ไฟฟ้ารายชั่วโมงส่วนใหญ่จะได้รับการจัดหาโดยพลังงานหมุนเวียน

รูปที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าเขียวต่อความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในกริดไทย

รูปที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าเขียวต่อความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในกริดไทย

อย่างไรก็ตาม หลังปี 2040 สัดส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ได้รับจากพลังงานหมุนเวียนรายชั่วโมงจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพียงพอแค่รองรับการเติบโตของความต้องการไฟฟ้า ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการสร้างการเชื่อมโยงไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวที่มีพลังงานน้ำ (hydropower) มากเพื่อเพิ่มการนำเข้าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

รูปที่ 41 ปริมาณพลังงานหมุนเวียนในระบบตามโมเดล NEO NZS

รูปที่ 41 ปริมาณพลังงานหมุนเวียนในระบบตามโมเดล NEO NZS

ประเทศไทยจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 4.5 เท่า ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2023 ซึ่งเร็วกว่าอัตราการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สามเท่า การอนุญาตให้ลูกค้าทางธุรกิจเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากภายนอก (offsite PPAs) ซึ่งเป็นการพิจารณาที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ จะเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดการลงทุนและเร่งการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

ในช่วงทศวรรษนี้ ประเทศไทยจะต้องเริ่มการใช้เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน โดยเริ่มจากแบตเตอรี่ ตามโมเดล NEO NZS ประเทศไทยจะต้องมีความจุแบตเตอรี่ 9GW ภายในปี 2030 จากความจุที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ต่ำกว่า 100MW

5. แนวทางการสนับสนุนการใช้พลังงานปลอดคาร์บอนตลอด 24 ชั่วโมง

5.1 หลักการเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน

ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและความสนใจของบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ในการจัดซื้อพลังงานสะอาดเปิดโอกาสพิเศษในการเร่งกระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนของภูมิภาคผ่านการจัดหาพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง (24/7 CFE) ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาค APAC สามารถสนับสนุนความสามารถของบริษัทในการส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอนในระดับชาติผ่านการสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดซื้อพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งการใช้พลังงานหมุนเวียน ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้ข้อเสนอแนะทั้งสี่ข้อที่ Global Renewables Alliance (GRA) ระบุเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มพลังงานทดแทนสามเท่าภายในปี 2030 ในการประชุม COP28 มีดังนี้

  1. การเงิน เพิ่มการลงทุนในพลังงานทดแทนโดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มปริมาณการลงทุนในด้านความเร็ว ขนาด และการกระจาย โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (EMDEs) โดยการระดมทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ได้มูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ในการเพิ่มพลังงานทดแทนสามเท่าภายในปี 2030
  2. ห่วงโซ่อุปทาน สร้างห่วงโซ่อุปทานพลังงานทดแทนที่มีความมั่นคงและยืดหยุ่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการเพิ่มพลังงานทดแทนสามเท่า
  3. ใบอนุญาต ปรับปรุงกระบวนการวางแผนและการอนุญาตเพื่อให้การพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำลง
  4. กริด เพิ่มการลงทุนที่จำเป็นในโครงสร้างพื้นฐานกริดใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบกริดที่มีอยู่เพื่อสร้างระบบพลังงานที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานทดแทน การลงทุนในการผลิตไฟฟ้าต้องทำควบคู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการส่งและกระจายไฟฟ้า

5.2 หลักการเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง

  1. ปรับปรุงความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลไฟฟ้า หน่วยงานกำกับดูแลควรกำหนดให้ผู้ดำเนินการระบบเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาพลังงานไฟฟ้าผสมและความต้องการใช้ไฟฟ้าในรายชั่วโมง
  2. สนับสนุนการจัดทำ REC รายชั่วโมง ผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแลควรสนับสนุนการริเริ่ม REC รายชั่วโมงตามมาตรฐานสากลที่มีอยู่ เช่น EnergyTag และพัฒนากลไกการจัดหาพลังงานสะอาดที่ช่วยให้บริษัทสามารถติดตามการใช้พลังงานสะอาดที่จัดส่งไปตามการใช้จริง
  3. ส่งเสริมตัวเลือกการจัดซื้อพลังงานสะอาดที่หลากหลายสำหรับบริษัท ผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแลควรสนับสนุนแนวทางการจัดซื้อพลังงานสะอาดที่ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดตลอดเวลา
  4. ปรับรูปแบบการประมูลเพื่อเร่งการใช้งานเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เป็นที่ยอมรับ ผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแลควรพัฒนารูปแบบการประมูลใหม่ ๆ ที่ช่วยเร่งการนำเทคโนโลยีที่ต้นทุนต่ำมาใช้ในการจัดหาพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง
  5. ปรับปรุงการวางแผนและกฎระเบียบของกริดเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอน ผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแลควรปรับปรุงการวางแผนและการดำเนินงานของกริดเพื่อสนับสนุนการขยายโครงสร้างพื้นฐานกริดในการรองรับพลังงานสะอาด
  6. สนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากบริษัทในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับการจัดหาพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง หน่วยงานกำกับดูแลควรกำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากบริษัทในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานระยะยาว เพื่อให้บริษัทสามารถลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้ได้
รูปที่ 42 หลักการเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง

รูปที่ 42 หลักการเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง

6. เอกสารอ้างอิง

6.1 รายงาน Southeast Asia in Short : 2H 2024, BloombergNEF, January 9, 2025

6.2 รายงาน 24/7 Carbon-Free Energy Procurement in APAC: Pathway for Companies and Countries, BloombergNEF, November 26, 2024

6.3 รายงาน Corporate PPA Deal Tracker, BloombergNEF, November, 2024

6.4 รายงาน 24/7 Carbon-Free Energy Transition Index, BloombergNEF, April 24, 2023

ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
มกราคม 2568