ค้นพบแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า จากพลังงานนิวเคลียร์แห่งใหม่

บทความด้านพลังงาน
20 ธันวาคม 2564 , 12:00
82
1
1

  โครงการสำรวจดวงจันทร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซา สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน กระทั่งมนุษยชาติได้รับรู้เรื่องดวงจันทร์อย่างจริงจังเมื่อยานอะพอลโล 11 เดินทางไปวนรอบดวงจันทร์และได้นำมนุษย์อวกาศลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2512 และยานอะพอลโล 17 (7 - 19 ธันวาคม 2515) เป็นยานอวกาศลำสุดท้ายในโครงการอะพอลโล และนำรถลูนาโรเวอร์ ไปขับสำรวจพื้นผิว ดวงจันทร์เป็นครั้งที่สาม ยานจอดบนดวงจันทร์นานประมาณ 75 ชั่วโมง ส่วนมนุษย์อวกาศออก สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์นาน 22 ชั่วโมง 4 นาที และนำดินหินดวงจันทร์กลับมายังโลกจำนวน110 กิโลกรัม

          ส่วนโครงการ ลูนา พรอสเปคเตอร์Lunar Prospector ซึ่งทางองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาดำเนินการลำดับต่อมานั้นเป็นอีกโครงการที่ทำการสำรวจดวงจันทร์ โดยยานถูกส่งออกไปเมื่อ 7 มกราคม 2541 โคจรในแนวขั้วเหนือใต้ ของดวงจันทร์เพื่อค้นหาน้ำใต้ ผิวดวงจันทร์ และสิ้นสุดโครงการเมื่อ 31 กรกฎาคม 2542

ผลการสำรวจค้นพบไฮโดรเจนจำนวนมาก น่าจะเป็นสัญญาณบอกร่องรอยของการมีน้ำแข็ง ปะปนกับดิน หิน ซ่อนตัวอยู่ในก้นหลุมลึกที่ขั้วทั้งสองที่ไม่เคยได้รับแสงอาทิตย์เลย คาดว่าอาจ มีปริมาณน้ำมากถึง   600 ล้าน เมตริกตัน และทางขั้วเหนือมีน้ำมากกว่าทางขั้วใต้ พบว่าดวงจันทร์มีสนามแม่เหล็กอ่อนและอาจมีแกนในเป็น เหล็กขนาดเล็กราว 300 กิโลเมตร เมื่อสิ้นสุดโครงการ ยานถูกกำหนดให้พุ่งชนหลุมหนึ่งทางขั้วใต้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2542 เพื่อศึกษาแรงตกกระแทกและสำรวจหาร่องรอยไอน้ำพวยพุ่ง ขึ้นมาจาก ก้นหลุม

          นอกจากนี้ยังพบว่าดวงจันทร์มีแหล่งแร่ฮีเลียม 3 ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้จำนวนมหาศาล แร่นี้พบมากมายในดวงจันทร์และมากกว่าในโลกใบนี้อย่างมาก

          ดร.เจอรัลด์ คัลซินสกี ศาสตราจารย์ทางวิศวกรรมนิวเคลียร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ฮีเลียม 3 เพื่อการทำวิจัยปฏิกรณ์ฟิวชั่นได้กล่าวว่า ฮีเลียม 3 แพงขึ้นทุกวัน เมื่อ 2 - 3 ปีก่อนราคากรัมละ 30,000 บาท ตอนนี้ราคา 210,000 บาทต่อกรัม ปีหน้าราคาอาจจะถึง 300,000 บาทต่อกรัม เท่าที่ทำการสำรวจพบว่าโลกใบนี้มีฮีเลียม 3 แค่ 30 กิโลกรัมเท่านั้น และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับทางราชการ

          ประเด็นสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือหากใช้ฮีเลียม 3 เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยานิวเคลียร์จะมี ความปลอดภัยดีมากกว่าการใช้แร่ธาตุอย่างอื่นเป็นเชื้อเพลิงเป็นอย่างมาก และตัดโอกาสที่จะนำไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อทำลายล้างโลก เพราะจากการทดลองการทำวิจัยของ ดร.คัลซินสกีพบว่า แร่ธาตุนี้ไม่มีกากกัมมันตภาพรังสีเลย

          ทีมงานวิจัยก็ได้พบอีกเช่นกันว่าที่ดวงจันทร์มีแร่ธาตุนี้มากมายกว่าโลกมหาศาล ประมาณการว่าประมาณถึง 1 ล้านตัน หรือประมาณพันล้านกิโลกรัม มากกว่าที่มีอยู่บนโลกนี้กว่า 30 ล้านเท่า

          ผลจากการคำนวณคือประมาณ 300,000 ล้านล้านบาทในขณะนี้ หากแต่ในอนาคตอีก 10 - 20 ปีข้างหน้าราคาจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกมากน้อยเพียงใดไม่สามารถคำนวณได้ แต่มนุษย์บนโลกจะไปจะไปขนกลับมา ยังโลกอย่างไร เพราะค่าเดินทางจากโลกไปดวงจันทร์แล้วไปตั้งโรงงานที่ดวงจันทร์เพื่อขุดเจาะเอาฮีเลียม 3 มาแล้ว บรรทุกส่งมายังโลกอีกครั้งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

          กลุ่มนักบินอวกาศอะพอลโล 17 คน และแฮริสัน ชมิทท์ นักธรณีวิทยา ระบุว่าสหรัฐอเมริกาล้าหลังโดยเฉพาะองค์การนาซ่าละเลยที่จะดำเนินโครงการกลับไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้งมาเป็นเวลานานแล้ว อย่างไรก็ตามผลจากการคำนวณประมาณพบว่า ถ้ามอบหมายให้ภาคเอกชนดำเนินโครงการนี้ ซึ่งคาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 450,000 - 600,000 ล้านบาท ในช่วง 2 ทศวรรษหน้าเปรียบเทียบการลงทุนโครงการวิจัยด้านปฏิกรณ์เทอร์โมนิวเคลียร์ในปัจจุบันที่ต้องใช้เงินประมาณ 540,000 ล้านบาท ถือว่าไม่แพงเกินไปนัก

          นอกจากนี้กลุ่มนักวิจัยที่ห้องปฏิบัติการของ ดร. คัลซินสกีที่เมดิสัน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็ยังคงวิจัยเรื่องนี้ไม่หยุดโดยหวังที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่สะอาดไม่มีกากกัมมันตภาพรังสีและยังจะมีเวลาทำการวิจัยได้อีกนาน ดูเหมือนว่าอีกนานกว่าจะคุ้มค่าการลงทุน และทำอย่างไรให้ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหันมาลงทุนในการส่งคนไปดวงจันทร์อย่างจริงจังอีกสักรอบ กลุ่มทีมงานนักบินอวกาศอะพอลโลและ ดร.ชมิทท์ ได้คุยกลุ่มนักวิจัยด้านพลังงานนิวเคลียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแล้วสรุปได้ว่าพลังงาน บนดวงจันทร์จากแร่ธาตุฮีเลียม 3 นี้มีมากกว่าพลังงานที่เกิดจากซากพืชซากสัตว์หรือฟอสซิล ถึง 10 เท่า และจะสามารถทำให้โลกสามารถมีพลังงานสะอาดใช้ได้เพิ่มอีกหลายพันปีโดยตัดปัญหาความหวาดกลัวหรือผลกระทบที่อาจเกิดจากกากกัมมันตภาพรังสีไปได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.seds.org/nineplanets/nineplanets/nineplanets.html
http://solarviews.com/eng/homepage.htm
http://www.planetscapes.com/solar/eng/history.htm
http://nssdc.gsfc.nasa.gov/planetary/chronology.html

รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด    
boonmark@stemford.edu
ที่มา: http://www.dailynews.co.th